กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้ายกระดับไทยเป็นผู้นำเกษตรอินทรีย์ในอาเซียน รุกขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ 5 ปี ตั้งเป้าปี 2564 ขยายพื้นที่ผลิตกว่าล้านไร่ พร้อมส่งเสริมเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มกว่า 9 หมื่นราย
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงผลการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ว่า กระทรวงเกษตรฯกำหนดนโยบายปฏิรูปภาคการเกษตร โดยมุ่งเน้นการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต และยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ตลอดทั้งผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งแนวโน้มปัจจุบันมีความต้องการสินค้าที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ กระทรวงเกษตรฯ จึงได้กำหนดเป็นนโยบายการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ซึ่งได้ประโยชน์ทั้งเกษตรกรที่จำหน่ายสินค้าเกษตรที่ได้ราคาสูงขึ้น และผู้บริโภคมีทางเลือกสินค้าที่ปลอดจากสารเคมีตกค้าง
ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 ต่อคณะรัฐมนตรีและได้ผ่านความเห็นชอบ โดยจะใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนและพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ 11 กลยุทธ์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมการวิจัย การสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาการผลิตสินค้าและบริการเกษตรอินทรีย์ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาการตลาดสินค้าและบริการ และการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และยุทธศาสตร์ที่ 4 การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์
[caption id="attachment_159481" align="aligncenter" width="503"]
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ[/caption]
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรฯ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปี 2560-2564 มีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในปี 2564 ไม่น้อยกว่า 1.33 ล้านไร่ และมีจำนวนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 9.66 หมื่นราย เพิ่มสัดส่วนตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศ 40% และตลาดต่างประเทศ 60% รวมทั้งยกระดับกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้านเพิ่มขึ้น โดยมุ่งให้ความสำคัญกับกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่มีความพร้อมเป็นผู้นำต้นแบบในการดำเนินการเพื่อให้มีอาหารปลอดภัยและได้มาตรฐาน
“ผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์จะทำให้เกษตรกรผู้ผลิตมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยปัจจุบันมีพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกรวม 318 ล้านไร่ ใน 183 ประเทศ ในขณะที่ด้านการตลาดมีมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกรวม 3 ล้านล้านบาท สำหรับในประเทศไทยมีพื้นที่ผลิตรวม 0.3 ล้านไร่ โดยไทยเป็นอันดับที่ 8 ของเอเชีย และอันดับที่ 60 ของโลก ซึ่งสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยที่สำคัญ ได้แก่ กะทิ เครื่องแกง ซอส มูลค่า 1,201 ล้านบาท ข้าว 552 ล้านบาท และอื่นๆ เช่น มะพร้าวน้ำหอม ชา กาแฟ และสมุนไพร 558 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ารวม 2,310 ล้านบาท โดยยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติจะช่วยผลักดันประเทศไทยเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคด้านการผลิต การค้า การบริโภค และการบริการเกษตรอินทรีย์ที่มีความยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว
นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงผลการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์ในปี 2560 ว่า ได้แบ่งพื้นที่การดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน คือ จังหวัดยโสธร ซึ่งมีการปลูกข้าวอินทรีย์เป็นพืชหลัก ปลูกพืชผักหลังนา และเลี้ยงไก่อินทรีย์เป็นกิจกรรมเสริม และพื้นที่ทั่วไป ซึ่งมีกิจกรรมหลากหลายทั้งพืช ทั้งนี้ ผลการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ใน ปี 2560 พื้นที่รวมทั้งประเทศ 1.09 แสนไร่ แยกเป็นข้าว 9.82 หมื่นไร่ และพืชผสมผสาน 9,103 ไร่