"วีรศักดิ์” ถกJTC ไทย-ภูฏาน ครั้งแรกรอบ 2 ปี เดินหน้าความร่วมมือเศรษฐกิจทุกสาขา พร้อมดันการค้าสองฝ่ายทะลุ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2564 ชี้โอกาสเอกชนไทยลงทุนท่องเที่ยว โรงแรม-ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า ไทย – ภูฏาน (JTC) ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 26 – 27 กันยายน 2562 ณ กรุงทิมพู ประเทศภูฏาน ตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการของภูฏาน โดยการประชุม JTC ครั้งนี้ ได้เน้นการหารือเพื่อกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และขยายการค้าการลงทุนระหว่างกัน หวังให้มูลค่าการค้าสองฝ่ายเติบโตจาก 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปัจจุบัน สู่ 50 ล้านดอลาร์สหรัฐ ภายในปี 2564 ตามที่ผู้นำสองฝ่ายตั้งเป้าหมายไว้
วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล
โดยภูฏานสนใจเรื่องการแปรรูปผลผลิตการเกษตร การพัฒนาสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือสินค้า OGOP (One Gewog One Product) การออกแบบบรรจุภัณฑ์การพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหัตถกรรม เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยเชี่ยวชาญ และยินดีแบ่งปันประสบการณ์ ถ่ายทอดความรู้เชิงวิชาการแก่ภูฏาน
นอกจากนี้ เนื่องจากปีนี้เป็นปีที่ไทยและภูฏานได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 30 ปีได้มีโอกาสเข้าร่วมงานเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ที่จัดขึ้นในช่วงที่ไปเยือนพอดี จึงยิ่งเห็นว่าชาวภูฏานมีทัศนคติที่ดีกับคนไทย เริ่มรู้จักสินค้าและบริการของไทยมากขึ้นผ่านการไปท่องเที่ยว และศึกษาในไทย เป็นโอกาสดีที่ทั้งสองประเทศจะกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ด้านนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ในการประชุม JTC ครั้งนี้ ฝ่ายภูฏานแจ้งว่ารัฐบาลมีนโยบายที่จะขยายเขตนิคมอุตสาหกรรม (industrial estate park) เพื่อดึงดูดการลงทุนในภูฏาน ฝ่ายไทยจึงได้ขอให้ภูฏานแจ้งข้อมูลกฎระเบียบด้านการลงทุน และโครงการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศให้ฝ่ายไทยทราบ เพื่อที่จะได้ประชาสัมพันธ์ให้แก่นักลงทุนไทยที่สนใจ โดยเฉพาะในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การโรงแรม และการท่องเที่ยว เป็นต้น
ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยมีการลงทุนด้านธุรกิจโรงแรมในภูฏานอยู่แล้วหลายราย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือในรายละเอียดของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะดำเนินการ และพัฒนาร่วมกันได้ ไม่วาจะเป็นด้านการเกษตร ทั้งสองฝ่ายสามารถใช้กลไกความร่วมมือด้านการเกษตรที่มีอยู่ ส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตรและการประมง โดยภูฏานสนใจส่งออกสินค้าเกษตรที่ตนมีศักยภาพมาไทย เช่น ถั่งเช่า เห็ด ควินัว หน่อไม้ฝรั่ง แอปเปิ้ล ส้ม มันฝรั่ง และน้ำผึ้ง ซึ่งไทยได้ให้ข้อมูลด้านกฎระเบียบมาตรฐานการนำเข้าของไทย เพื่อให้ภูฏานสามารถจัดเตรียมเอกสารข้อมูลการยื่นคำขอนำเข้าได้ถูกต้อง ด้านหัตถกรรม ทั้งสองฝ่ายสามารถใช้บันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ที่มีอยู่ระหว่างศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศของไทยกับกรมอุตสาหกรรมครัวเรือนของภูฏาน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความร่วมมือทางวิชาการด้านหัตถกรรมให้มากขึ้น
ฝ่ายไทยยังได้เชิญภูฏานเข้าร่วมจัดนิทรรศการและจำหน่ายงานศิลปหัตถกรรมในงาน Craft Bangkok และงานฝ้ายทอใจที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพฯ มีแผนจัดขึ้นในปี 2563 ด้วย ด้านการท่องเที่ยว ไทยยินดีสนับสนุนความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวกับภูฏาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและศาสนา ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ด้านการบริหารจัดการโรงแรม ธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับสภาการท่องเที่ยวแห่งภูฏานเป็นกลไกที่ใช้หารือและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันอยู่
“ภูฏานสนใจเรื่องการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชนผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (ระบบ National single window) โดยเฉพาะข้อมูลการนำเข้า-ส่งออกตลอดจนการพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถทำธุรกิจซื้อขายสินค้าออนไลน์ (พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์) และการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อสร้างความแตกต่างและมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์ของไทยมีประสบการณ์ในการพัฒนาระบบ และมีการส่งเสริมผู้ประกอบการในด้านนี้อยู่แล้วจึงยินดีที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือทางวิชาการภูฏานในเรื่องเหล่านี้ โดยขอให้ฝ่ายภูฏานแจ้งความต้องการในรายละเอียดเพื่อที่จะได้วางแนวทางทำกิจกรรมร่วมกันต้อไป
นอกจากนี้ไทยได้เชิญให้ภูฏานประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติที่กระทรวงพาณิชย์ของไทยมีแผนจะจัดขึ้นด้วย อาทิ งาน STYLE (17 – 21 ตุลาคม 2562) งาน Bangkok Gems and Jewelry (กุมภาพันธ์ และกันยายน 2563) และงาน THAIFLEX-Anuga (พฤษภาคม 2563) เป็นต้น ซึ่งจะเป็นโอกาสดีในการนำเสนอสินค้าศักยภาพของภูฏานให้เป็นที่รู้จักแก่ชาวไทยและต่างประเทศที่มาร่วมงาน
สำหรับภูฏานเป็นคู่ค้าลำดับที่ 7 ของไทยในเอเชียใต้ รองจากอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ ศรีลังกา มัลดีฟส์ และเนปาล โดยในปี 2561 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 39.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไทยส่งออกไปภูฏาน 39.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากภูฏาน 0.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ. ในปี 2562 ช่วง 8 เดือนแรก การค้าระหว่างไทยกับภูฏาน มีมูลค่า 28.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นการส่งออกของไทยไปภูฏาน มูลค่า 28.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญ อาทิ ผ้าผืน ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป ผ้าทอจากฝ้าย และการนำเข้าของไทยจากภูฏาน มูลค่า 0.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่นสินแร่โลหะที่ใช้ในอุตสาหกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ น้ำแร่ และผักและผลไม้