รฟท. ยันส่งมอบพื้นที่ล็อตแรก 3,000 ไร่ ภายใน 1 เดือนนับจากเซ็นสัญญา เปิดทางกลุ่มซีพีลงพื้นที่ตอกเข็ม
มติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 9/2562 เห็นชอบให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลงนามในสัญญากับกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) วันที่ 15 ตุลาคม 2562
สะท้อนความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีว่า การตอกเสาเข็มต้นแรกของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในอนาคตอันใกล้หากไม่มีเหตุการณ์เหนือความคาดหมายเกิดขึ้น ขณะความล่าช้าเรื่องการส่งมอบพื้นที่ ที่กลุ่มซีพี พยายามนำมาเป็นเงื่อนไขยื้อเซ็นสัญญา ที่ว่ารฟท.ต้องส่งมอบพื้นที่ 100% ล่าสุด ได้ข้อยุติกพอ.มอบให้รฟท. เร่งส่งมอบพื้นที่ 72% ภายใน 1 ปี ส่วนพื้นที่ไหนไม่ติดปัญหาก็สามารถลงมือได้ทันที ทั้งนี้ การแก้ปัญหาในเชิงรุกของกพอ.เพื่อให้อีอีซีขับเคลื่อนได้ในครั้งนี้ ประเมินว่ากลุ่มซีพีน่าจะเซ็นสัญญาตามนัด
มั่นใจ100% ซีพีมาตามนัด
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า รฟท.มั่นใจ 100% ว่าวันที่ 15 ตุลาคม 2562 กลุ่มซีพี จะลงนามร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3สนามบิน เนื่องจากรฟท. เตรียมส่งมอบพื้นที่ล็อตแรกที่ปราศจากสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 3,000 ไร่ ภายใน 1 เดือนนับจาก ลงนามในสัญญา ช่วยให้กลุ่มซีพี เข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ทันที ทั้งนี้ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณช่วงปลาย โครงการสนามบินอู่ตะเภา พัทยา และพื้นที่อื่นๆบางบริเวณ
ขณะพื้นที่ที่ยังติดปัญหากรณีบุกรุก เขตทางรถไฟ มี 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงตั้งแต่ ดอนเมือง-ฉะเชิงเทรา ประมาณ 200-300 ครอบครัว และ ช่วงบริเวณสถานีศรีราชา อีก จำนวนหนึ่งนับ 100 ครอบครัวเร็วๆนี้รฟท.เตรียมลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับผู้บุกรุกให้ออกจากพื้นที่ โดยเริ่มจากช่วงดอนเมืองเป็นต้นไป
เจรจาปรับแนวท่อ
สำหรับการเจรจาการรื้อย้ายสาธารณูปโภค เช่นท่อส่งนํ้ามัน ท่อส่งก๊าซ กับ ปตท. เสาไฟฟ้ากับ ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ท่อประปากับการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค เป็นต้น จะใช้วิธีออกแบบ หลบแนวเส้นทางไฮสปีด ส่วนค่าใช้จ่ายรื้อย้ายเอกชนตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้
“กพอ. เห็นชอบให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดการรื้อย้ายท่อก๊าซยาว 12 กม. ยกเสาไฟฟ้าแรงสูง 16 จุด กระทรวงมหาดไทยเร่งรัดย้ายท่อประปาขนาดใหญ่ยาว 2 กม. และกระทรวงคมนาคมโดย รฟท.ใช้สิทธิ์เร่งรัดให้ย้ายท่อนํ้ามันของบริษัทเอกชน ระยะทาง 44 กม .”
นายวรวุฒิ กล่าวต่อว่า มั่นใจจะสามารถส่งมอบที่ดิน 72% และที่ยังติดปัญหาได้ภายใน 1 ปี หลังลงนามในสัญญาร่วมลงทุน เพื่อให้เอกชนเริ่มก่อสร้างโครงการ
ส่วนสัญญาแนบท้ายกำหนดไว้ก่อนหน้านี้ เช่น ใช้เวลา 2 ปีในการแก้ปัญหาบุกรุกรวมถึงการรื้อย้ายสาธารณูปโภคเพื่อส่งมอบพื้นที่ ได้ถูกยกเลิกไป
สำหรับพื้นที่เวนคืน 850 ไร่ 12 แปลง ส่วนใหญ่ อยู่ในพื้นที่จังหวัด ฉะเชิงเทรา 400 ไร่ จำนวน 1 แปลง เพื่อก่อสร้างสถานีและอู่ซ่อม พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เวน คืนที่ดิน ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาประเมินว่าอีกไม่นาน น่าจะประกาศใช้
ตอม่อโฮปเวลล์ ซีพีต้องจ่าย
แหล่งข่าวจากรฟท.เสริมว่า ส่วนตอม่อโฮปเวลล์ จำนวน 200 ต้น มูลค่า 200 ล้านบาทยืนยันว่าเอกชนเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและรื้อถอนซึ่งส่วนใหญ่อยู่บริเวณ บางซื่ออย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา กพอ. ได้เร่งรัดให้รฟท.ดำเนินการ จัดทำแผนการส่งมอบพื้นที่ให้ได้มากที่สุดและพร้อมเซ็นสัญญาในวันที่ 15 ตุลาคมนี้
ด้านความก้าวหน้าโครงการอีอีซี นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยว่าภายในปีนี้ โครงการขนาดใหญ่ได้รับอนุมัติโครงสร้างพื้นฐานอยู่ระหว่างการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังมีการเซ็นสัญญาขณะไฮสปีดของรฟท. ก็จะมีการลงนาม กับกลุ่มซีพี วันที่ 15 ตุลาคมนี้ซึ่งเชื่อว่าราคาที่ดินจะขยับอีก รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชนที่ ก้าวเข้ามาใน 3 จังหวัดอีอีซี
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3510 วันที่ 3-5 ตุลาคม 2562