ปี 2566 ประเทศไทยจะเปิดใช้รถไฟความเร็วสูงรวดเดียว 2 เส้นทาง ระยะทาง 457 กิโลเมตร ร่นการเดินทางจากภาคอีสาน อย่าง จังหวัดนครราชสีมา ไปเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก อีอีซี ปลายทางสนามบินอู่ตะเภา ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง 15 นาที ที่ความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะค่าโดยสารไม่แพง หากเทียบกับการเดินทางทางอากาศ หรือแม้กระทั่งรถยนต์ส่วนตัว
เริ่มจาก รถไฟไทย-จีน เส้นทางสายอีสาน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252 กิโลเมตร ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมาก จากการแบ่งซอยย่อยงานโยธาออกเป็น 14 สัญญาของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เช่นเดียวกับ ไฮสปีด เชื่อม 3 สนามบินไร้รอยต่อ (ดอนเมือง- สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) กระดูกสันหลังเมืองการลงทุนอีอีซีของภาครัฐที่มีการลงนามในสัญญา ไปเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 รฟท. กับบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ที่มี บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ฯ หรือกลุ่มซีพี ถือหุ้นใหญ่ คาดว่าปลายปี 2563 ได้เห็นการก่อสร้างในเส้นทางนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดใช้เส้นทางอย่างเร็วปลายปี 2566 อย่างช้าต้นปี 2567
สำหรับการเชื่อมโยง เมื่อ 2 ไฮสปีด อีสาน-อีอีซี กระชับเข้าหากันเพราะจังหวัดนครราชสีมา กับ 3 จังหวัดภาคตะวันออก เป็นทั้งเมืองท่องเที่ยวหัวเมืองใหญ่ และเมืองอุตสาหกรรม การค้าการลงทุน ที่คล้ายคลึงกัน
ทั้งนี้หากมาจากภาคอีสาน แนวเส้นทางจะวิ่งจากสถานีนครราชสีมา ผ่านปากช่อง เข้าสระบุรี อยุธยา เข้าสู่กรุงเทพ มหานคร ที่สถานีดอนเมือง จากนั้นวิ่งเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ เชื่อมต่อไฮสปีด ซีพี มุ่งหน้าเข้าสถานีมักกะสัน ตรงไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ จากนั้นเข้าสู่ สถานีฉะเชิงเทรา มุ่งหน้าสู่ ชลบุรี ศรีราชา พัทยา และสถานีปลายทาง เมืองการบิน-สนามบินอู่ตะเภา
นอกจากความสะดวกรวดเร็ว ประหยัดปลอดภัย ในการเดินทางแล้ว ตลอดแนวไฮสปีดทั้ง 2 เส้นทางวิ่งผ่าน จะเกิดการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นขุมทรัพย์ทำเงินที่น่าจับตา
หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3520 ระหว่างวันที่ 7 - 9 พฤศจิกายน 2562