นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัล
มีผลทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ด้วยนวัตกรรมดิจิทัลต่าง ๆ ทำให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่
โดยมีผลกระทบกับธุรกิจเดิมอย่างรุนแรง หรือที่เรียกว่า ดิจิทัล ดิสรัปชัน ดังนั้น เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ
เอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนให้สามารถอยู่รอดได้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ
เอกชน และประชาชน เพื่อหาแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้รู้เท่าทันและอยู่รอดในยุคดิสรัปชัน เกิดการพัฒนา ต่อยอด ซึ่งจะเป็นไปตามแนวนโยบาย ปั้น ปรุง เปลี่ยน เอสเอ็มอี ให้ดีพร้อม (DIProm)
ทั้งนี้ ล่าสุด กสอ. ได้หารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ให้ความช่วยเหลือทางการเงินและมีกลไกสนับสนุนด้านเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการที่ทำอุตสาหกรรมเกษตร และมีสาขากว่า 900 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงยังมีเครือข่ายเกษตรกรอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่ง กสอ. เองก็มีแนวคิดในการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรรูปแบบใหม่ คือ การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ที่ไม่ใช่ชนิดหลัก (ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์ม อ้อย โค สุกร) เช่น ผักโขม สมุนไพร ปลาสวยงาม เพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอต่อความต้องการในการนำไปแปรรูป หรือขยายช่องทางการตลาดจากเดิมที่ต้องนำเข้า เกิดเกษตรกรที่เป็นซัพพลายเชนของเกษตรทางเลือกมากขึ้น
ขณะที่ ธกส. เองต้องการให้ กสอ. ช่วยเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งกระบวนการแปรรูป และการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Packaging) ให้มีความสวยงามทันสมัย ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งส่วนนี้ กสอ. มีกิจกรรม/โครงการที่เปิดอบรมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีอยู่แล้ว รวมถึงศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ITC 4.0) ที่สามารถให้คำแนะนำ คำปรึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ กสอ. ยังมีแนวคิดที่จะสร้างกลไกการให้บริการเครื่องจักร (Machinery Services) โดยพัฒนาสตาร์ทอัพแอปพลิเคชันที่ให้บริการเครื่องจักรทางการเกษตร ลักษณะเดียวกับการเรียกแกร๊บแท็กซี่ ให้เกษตรกรสามารถเช่าเครื่องจักรไปใช้ได้ในรัศมีพื้นที่นั้น ๆ เช่น รถสีข้าว เครื่องลดความชื้นข้าวเปลือก เกิดการต่อยอดธุรกิจการผลิตเครื่องจักรสำหรับการเปิดเช่าบริการ อย่างไรก็ดี อาจต้องปรับปรุงฟังก์ชันการใช้งานเครื่องจักรให้สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากขึ้น ตั้งเป้าเกิดนักธุรกิจเกษตรกว่า 500 ราย
นายณัฐพล กล่าวต่อไปอีกว่า กสอ. จะเข้าหารือกับผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการพัฒนาศักยภาพพื้นที่หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village: CIV) โดยร่วมมือกับ ททท. ในการจัดเส้นทางท่องเที่ยว สร้างแลนมาร์คสถานที่ท่องเที่ยวห้ามพลาด เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากกิจการที่พัก ร้านอาหาร และร้านของฝาก โดยตั้งเป้าจะดำเนินการใน 120 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 215 หมู่บ้านทั่วประเทศ
“เราช่วยเขา เขาช่วยเรา เราช่วยกัน ร่วมสร้างสรรค์ และพัฒนาเอสเอ็มอีในทุกระดับ ทุกพื้นที่ด้วยการร่วมสร้างระบบนิเวศที่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนการดำเนินธุรกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน ร่วมใช้จุดดี จุดแข็งของแต่ละหน่วยงานผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยยุคใหม่ไม่ได้แค่มี ดี แต่ต้อง ดีพร้อม ในทุกมิติ ตามนโยบาย ปั้น ปรุง เปลี่ยน เอสเอ็มอี ให้ดีพร้อม (DIProm)”