นายวิชาญ เอกชัยศิริวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ร่างพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. .... ฉบับเสนอโดยประชาชน นั้นเป็นการรื้อกฎหมายใหม่ทั้งหมด 220 มาตรา เหตุผลที่ยกร่างเพราะพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ได้มีการตราขึ้นใช้บังคับอย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาปัญหาอันเนื่องมาจากผลกระทบที่ร้ายแรงของการทำประมงที่ผิดกฎหมายซึ่งอาจนำไปสู่การถูกขึ้นบัญชีหรือใบเหลืองของสหภาพยุโรป (อียู) หรืออาจจะถูกปรับขึ้นเป็นใบแดง จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและตอบสนองให้เห็นถึงความตั้งใจของประเทศไทยที่พยายามแก้ไขปัญหา จึงได้ตราเป็นพระราชกำหนดเพื่อให้สามารถบังคับใช้ได้ทันที
อย่างไรก็ดี พระราชกำหนดดังกล่าวมีบทบัญญัติบางมาตราที่อาจจะขัดต่อหลักการของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก หรือหลักสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินและสิทธิในการประกอบอาชีพของประชาชน การเลือกปฏิบัติ ขาดความเสมอภาค และบังคับใช้กฎหมายโดยไม่เท่าเทียมกัน
รวมทั้งมีบทกำหนดโทษที่ไม่เป็นธรรม ซ้ำซ้อน และไม่ได้สัดส่วนกับการลงโทษในความผิดทั่วไป เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว รวมทั้งบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและชาวประมงผู้ประกอบอาชีพโดยสุจริตให้ได้รับความเป็นธรรม ตลอดจนส่งเสริมการทำการประมงให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ และเกิดประโยชน์สูงสุด จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
นายวิชาญ กล่าวว่า การเสนอกฎหมายโดยภาคประชาชนเพื่อแก้ไขกฎหมายประมงทั้งฉบับ มีทั้งหมด 7 ขั้นตอนการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายนี้จะต้องมีคณะบุคคลใดมีจำนวนไม่น้อยกว่า 20 ซึ่งตามกฎหมายจะเรียกคณะบุคคลนี้ว่า “ผู้ริเริ่ม” โดยจะต้องเป็นบุคคลผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งตามมาตรา35 ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 36 ของรัฐธรรมนูญฯ เป็นต้น
“ล่าสุดได้ผ่านขั้นตอนที่สองแล้ว กำลังก้าวเดินไปสู่ขั้นตอนที่สามในการขอให่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมลงชื่อสนับสนุนจำนวนไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคน ดังนั้นใครอยากสนับสนุนให้ฝันของชาวประมงที่จะได้รับความเป็นธรรมในการประกอบอาชีพจากการแก้ไขกฎหมายประมงที่เป็นธรรม สามารถติดต่อตัวแทนของกลุ่มในจังหวัดของท่าน หรือลงลายมือชื่อในแบบฟอร์มและส่งสำเนาบัตรประชาชนพร้อมลงชื่อกำกับมาได้ที่ร้านกาแฟ School Cafe หน้าที่จอดรถโรงเรียนสมฤดีหรือที่สมาคมประมงสมุทรสาคร เมื่อรายชื่อได้ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคน ทางประธานรัฐสภาจะมีการตั้งคณะกรรรมาธิการเพื่อศึกษากฎหมายฉบับนี้ต่อไป”
สาระสำคัญของกสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. .... มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ อาทิ
นายวิชาญ กล่าวว่า สาเหตุที่มาตรามีจำนวนมาก ข้อไหนดีของกฎหมายประมงก็นำมาใช้ บางส่วนไม่ได้ก็มีการปรับแก้ไข โดยค่าปรับจะมี่ 2 ลักษณะ ยกตัวอย่าง ความผิดมีกรรมเดียว ค่าปรับจะต้องเป็นกรรมเดียว ไม่ใช่เป็นค่าปรับรายบุคคล ทุกวันนี้เป็นค่าปรับรายบุคคล หรือผิดที่เกิดขึ้น ต้องจับไต้ก๋ง แล้วเจ้าของเรือต้องรับผิดชอบร่วม ปรับ 40 ล้านบาทก็ปรับจบไปเลย ไม่ใช่นำค่าปรับ 40 ล้านนำมาคูณกับจำนวนแรงงานที่อยู่ในเรือ
"ผมคิดว่าไม่ใช่ หรือค่าปรับในกฎหมายสูงสุด 30 ล้านบาท แพงกว่าค่าเรืออีกควรปรับลดราคาให้สมควรกับเหตุสมควรกับความผิด จะเห็นได้ว่าต่างประเทศรอบบ้านไทยค่าปรับไม่เกิน 12-15 ล้านบาท แต่รัฐกลับค่าเงินอียูมาคิดจึงทำให้ค่าเงินแพงกว่าอยู่แล้วนำมาใช้ปรับเรือประมงไทย ถึงก็ต้องทำให้เรือประมงไทยต้องเลิกอาชีพไปเป็นจำนวนมากในช่วง 4-5 ปีมานี้ ก็มองว่ากฎหมายฉบับนี้จะการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นแก่อาชีพประมงต่อไปให้คงอยู่ในประเทศ"