ตามหนังสือที่อ้างถึงสำนักงานคดีแพ่ง สำนักงานอัยการสูงสุด ได้แจ้งผลคดีชั้นอุทธรณ์ คดีอาญาหมายเลขดำที่ อม.25/2558,อม.1/2559 หมายเลขแดงที่ อม.178/2560,อม.179/2560 ระหว่างอัยการสูงสุดโจทย์ ส่วนผู้ร้องได้แก่ กรมการค้าต่างประเทศที่ 1 องค์การคลังสินค้า (อคส.) ที่ 2 องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ที่3 กระทรวงพาณิชย์ที่4 กระทรวงการคลังที่ 5 นายภูมิ สาระผลที่ 1 กับพวกรวม 28 คน จำเลย เรื่องเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน มาให้ในคดีข้าวจีทูจีชดใช้ 2 หมื่นล้านพ่วงดอกเบี้ย ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 นั้น
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการประชุม (24 ก.พ.63) นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้มีการประชุมซักซ้อมความเข้าใจของ 5 หน่วยงานหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ดำเนินการอายัดและยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 7 ถึงที่ 9 จำเลยที่11 ถึงที่ 15 จำเลยที่ 17 ถึงที่18 และจำเลยที่ 20 ถึงที่ 28 ออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ทั้งนี้หากโจทย์ทั้ง 5 ไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาก็ขอให้จัดหน้าที่สืบหาทรัพย์ของจำเลยที่ 7 ถึงที่ 9 จำเลยที่ 11 ถึงที่ 15 จำเลยที่ 17 ถึงที่ 18 และจำเลยที่ 20 ถึงที่ 28 ว่ามีทรัพย์สินอะไร อยู่ที่ใด แล้วลงนามในหนังสือมอบอำนาจยึดทรัพย์ จึงมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ของกรมการค้าต่างประเทศ องค์การคลังสินค้า(อคส.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.) กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง นำเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ไปดำเนินการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 7 ถึงที่ 9 จำเลยที่ 11 ถึงที่ 15 จำเลยที่ 17 ถึงที่ 18 และจำเลยที่ 20 ถึงที่ 28 ออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาต่อไป
นายกีรติ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่เคยให้ข่าวไป เพราะว่าในขณะนั้นยังไม่มีหมายบังคับคดี หมายบังคับคดีเพิ่งส่งมาเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 จึงได้นัดประชุมทันที อยากจะชี้แจงและทำความเข้าใจว่า ทุกอย่างต้องทำตามขั้นตอนของกฎหมายไม่ได้เกียร์ว่าง และขณะนี้ 5 หน่วยงานได้ทำความเข้าใจ และพร้อมที่จะร่วมไม้ร่วมมือกันอย่างเต็มที่ โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการยึดทรัพย์ 10 ปีตามอายุความ
โดยในเบื้องต้นทางอัยการจะแจ้งมาว่ามีทรัพย์สินใดบ้างว่า มีที่ดิน หรือโฉนด จำเลยที่ 7ถึง จำเลยที่ 28 ตรงไหนบ้าง เมื่อยึดแล้วก็เข้ากระทรวงการคลัง โดยในหลักการทำงานทางปลัดพาณิชย์ได้ให้นโยบายในการทำงานไว้ว่า “ให้ทุกคนตระหนักเรื่องของกรอบเวลา กรอบกฎหมาย และไม่สร้างความเสียหาย”
อนึ่ง ตามคำพิพากษา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำเลยที่7 (นายสมคิด เอื้อนสุภา) จำเลยที่8 (นายรัฐนิธ โสจิระกุล) จำเลยที่ 9 (นายลิตร พอใจ) จำเลยที่11 ( นางสาวรัตนา แซ่เฮ้ง) จำเลยที่12 (นางสาวเรืองวัน เลิศศลารักษ์)จำเลยที่13 (นางสาวสุทธิดา หรือสุธิดา ผลดีหรือจันทะเอ) จำเลยที่14 (นายอภิชาต หรือเสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร) จำเลยที่15 (นายนิมล หรือโจ รักดี) จำเลยที่17(นางสาวสุนีย์ จันทร์สกุลพร) จำเลยที่18 (นายกฤษณะ สุรมนต์) จำเลยที่20 (บริษัทกีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์ จำกัด หรือบริษัท สิราลัย จำกัดจำเลยที่21 (นางสาวธันยพรหรือบงกร จันทร์สกุลพร) จำเลยที่ 22 (ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงสีกิจทวียโสธร) จำเลยที่23 (นายทวี อาจสมรรถ) และ จำเลยที่24 (บริษัท กิจทวียโสธรไรซ์ จำกัด) จำเลยที่25 (บริษัท เค.เอ็ม.ซี.อินเตอร์ไรซ์ (2002) จำกัด ) จำเลยที่26 (นายปกรณ์ ลีศิริกุล) จำเลยที่27 (บริษัทเจียเม้ง จำกัด) จำเลยที่28 (นางประพิศ มานะธัญญา)