ห่วงไทยลดสถานะ “ผลิตเหล็ก”เป็น”นำเข้า” ผู้บริโภคเสี่ยง

25 เม.ย. 2563 | 02:06 น.
อัปเดตล่าสุด :25 เม.ย. 2563 | 09:41 น.

 

อุตสาหกรรม “เหล็ก”หลายประเทศยกให้เป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญ   เพราะเหล็กเป็นต้นน้ำของหลายๆอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการผลิต รถยนต์ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ก่อสร้าง  อาวุธ  เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ ล้วนใช้เหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญ ขณะที่บางประเทศ เช่น อเมริกา  มองว่าอุตสาหกรรมเหล็กต้องปกป้อง เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ

แต่สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทย กลายเป็นอุตสาหกรรมที่ตกหลุมอากาศมาเป็นระยะ พอจะเติบโต หรือทำท่าจะไปได้ดี ก็มีอุปสรรคมาขวางกั้นอยู่เนืองๆ จนวันนี้อุตสาหกรรมเหล็กไทยถูกเวียดนามปาดหน้าไปเรียบร้อยแล้ว   และยิ่งไปกว่านั้นวงการเหล็กมองต่อไปอีกว่าสถานะของผู้ผลิตเหล็กในประเทศไทยกำลังจะถูกบีบให้กลายสภาพมาเป็นผู้นำเข้าแทนหรือไม่.....น่าติดตาม

“ฐานเศรษฐกิจ”สัมภาษณ์พิเศษ นายพงศ์เทพ  เทพบางจาก รองประธานอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และนายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี  ถึงสถานะของภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กในมุมมองของผู้ผลิตรายหนึ่งที่ต่อสู้กับปัญหาอุตสาหกรรมเหล็กมายาวนาน

โดยนายพงศ์เทพ  ย้อนภาพการต่อสู้ทางการค้าของผู้ผลิตเหล็กกับผู้นำเข้าเหล็กว่า นับวันดูเหมือนว่าฝ่ายผู้ผลิตเหล็กจะอ่อนเปลี้ยเพลียแรงลงไปทุกที หลักฐานที่ยืนยันคำพูดนี้คือสัดส่วนการนำเข้าเหล็กของไทยที่สูงติดอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งๆที่ขนาดเศรษฐกิจไทยก็ไม่ได้ใหญ่โตมากนัก

ห่วงไทยลดสถานะ “ผลิตเหล็ก”เป็น”นำเข้า” ผู้บริโภคเสี่ยง

 

ในปี 2562 ที่ผ่านมาไทยนำเข้าเหล็กโดยรวมถึง 12 ล้านตัน ผลิตในประเทศ 7 ล้านตัน และส่งออก 1 ล้านตัน หมายความว่าการบริโภคเหล็กในประเทศปีที่ผ่านมามีปริมาณเท่ากับ 18 ล้านตัน (12+7-1) เท่ากับว่าภายใต้ปริมาณการใช้เหล็กในประเทศ เป็นส่วนแบ่งของการนำเข้าถึง 2 ใน 3 ส่วน ขณะที่ส่วนแบ่งที่เหลือ 1 ใน 3 เป็นของฝ่ายผู้ผลิตในประเทศ เทียบกับหลายสิบปีก่อนส่วนแบ่งดังกล่าวสลับด้านกัน ยิ่งมาเจอปัจจัยลบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกยิ่งกระหน่ำซ้ำแบบไม่ยั้งมือ

-ห่วงผู้บริโภคใช้เหล็กไม่มีคุณภาพ

สิ่งที่น่ากังวลนอกเหนือไปจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่กล่าวไปแล้วนั้น คงหนีไม่พ้นประเด็นประโยชน์ของฝั่งผู้บริโภคที่ซื้อเหล็กไปใช้งาน เนื่องจากราคาที่ถูกอาจต้องแลกด้วยคุณภาพที่ลดลง

อีกทั้งเหล็กหลายชนิดมองด้วยตาเปล่าคงไม่สามารถจำแนกคุณภาพได้ เช่น กลุ่มเหล็กเคลือบสังกะสี หรือเคลือบอื่นๆ ที่มีความหนาตามป้ายที่ติดไว้จริงหรือไม่  ผู้บริโภคดูไม่ออก จะรู้อีกทีก็ตอนนำไปใช้งานจริงสักพักว่าทำไมสนิมขึ้นเร็ว เป็นต้น

 

รวมไปถึงประเด็นที่มีการนำเหล็กไปใช้งานผิดวัตถุประสงค์ที่ควรจะเป็น เพียงเพื่อหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า เพื่อหวังนำเหล็กราคาถูกและกำไรมาขายผิดวัตถุประสงค์ของหลักการวัสดุศาสตร์ เช่น นำเหล็กจีเอที่นำจีไอไปอบแล้วมาใช้กับงานก่อสร้าง ทั้งๆ ที่พื้นฐานเหมาะกับการนำไปทำสีก่อนนำไปใช้กับงานยานยนต์ เป็นต้น

 

ยังไม่นับงานโครงสร้างที่มีเรื่องการรับน้ำหนักถ้าใช้วัสดุผิดประเภท จะเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินมาก การพิจารณาใช้เครื่องมือ เอดี กับสินค้าเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (จีไอ) จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและเร่งด่วนมาก

“สุดท้ายก็คิดว่าการต่อสู้ระหว่างผู้นำเข้ากับผู้ผลิตก็ยังดำเนินต่อไป ต่อให้มีการใช้มาตรการเอดีจริง ผู้นำเข้าก็ต้องหาช่องทางใหม่ๆ ที่จะนำเข้าเหล็กได้อยู่ดี”

-สัญญาณเตือนมานานแล้วแต่รับมือไม่ทันผู้ผลิตถอดใจ

นายพงศ์เทพ กล่าวอีกว่าสัญญาณอันตรายของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กไทย ถูกส่งออกมาจากภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กจีนมานานพอสมควรแล้ว หลายประเทศทั้งฝั่งอเมริกา ยุโรป หรือแม้แต่เอเชียด้วยกันต่างก็มีวิธีการรับมือจากการถล่มราคาเหล็กถูกๆจากจีน โดยใช้เครื่องมือ เอดี และ เซฟการ์ด อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว

ผิดกับไทยที่ดูเหมือนว่าจะกังวลกับหลายๆ เรื่องทั้งประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงประเด็นผู้มีส่วนได้เสียจนผู้ผลิตหลายรายถอดใจเลิกผลิตหันมานำเข้าแทน จนต้องเลิกจ้างคนงาน คนงานในอุตสาหกรรมเหล็กจึงตกงานจำนวนมาก

-หวั่นระยาวกระทบเศรษฐกิจมหภาค

 สำหรับภาพรวมมองว่าในระยะยาวจะส่งผลเสียหายต่อประเทศในวงกว้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติทางด้านเศรษฐกิจมหภาคที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับว่าการมีอุตสาหกรรมภายในของตนเองกับการเป็นเพียงผู้นำเข้านั้น รอบการหมุนเวียนของเม็ดเงินในเศรษฐกิจแตกต่างกันหลายเท่าตัวมาก

“ตั้งข้อสังเกตว่า วันนี้หลังจากเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด19ไปทั่วโลก หลายประเทศเริ่มหันมามองวงจรซัพพลายเชนกันใหม่ โดยเฉพาะการผลิตสินค้าที่เป็นโครงสร้างสำคัญๆ หลายประเทศเริ่มคิดใหม่แล้วว่า เมื่อเกิดวิกฤติวงจรต้องไม่สะดุดจึงมีการกลับมาเน้นที่การผลิตในประเทศตัวเอง”

 ดังนั้นคงถึงเวลาที่ภาครัฐต้องกลับมาทบทวนเรื่องนี้กันใหม่ถ้าไม่ทำก็มีแต่จะเสียกับเสีย แนวคิดของผู้กำหนดนโยบายแบบพ่อค้านักการตลาดที่ว่าใครอ่อนแอก็ถอยไป ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศโดยรวม และอาจไม่เหมาะกับสถานการณ์ของประเทศในเวลานี้ที่เราต้องช่วยกันประคับประคอง ผลักดันให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมขับเคลื่อนไปให้ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมเหล็กที่ทุกประเทศทั่วโลกถือเป็นอุตสาหกรรมที่เปรียบเสมือนกระดูกสันหลัง

เมื่อปี 2562 ปริมาณการผลิตเหล็กของจีนสูงถึงเกือบ1,000 ล้านตัน ส่งออกไปถล่มราคาขายทั่วโลกกว่า 100ล้านตัน ไทยคือปลายทางที่เป็นท็อปเทนในนั้น หากนับเฉพาะเหล็กแผ่นชุบสังกะสี หรือที่เรียกกันสั้นๆว่าเหล็กจีไอ ส่งมาขายในไทยหนึ่งล้านกว่าตัน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ากระทบไปยังผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนและรีดเย็นซึ่งเป็นวัตถุดิบไปด้วย

 

ดังนั้นถ้าไม่รีบแก้ปัญหาการนำเข้าเหล็กจีไอจากจีนให้ได้ในครั้งนี้ หลังจากผู้ผลิตได้เคยขอให้ช่วยมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมาทั้งการขอเอดี และเซฟการ์ดแต่ไม่สำเร็จเลยนั้น ครั้งนี้อาจเป็นครั้งสุดท้ายซึ่งจะกระทบในวงกว้างอย่างแน่นอน

ปัจจุบันมีผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นเคลือบสังกะสี (GI) ในประเทศ 8 ราย กำลังเผชิญปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ทั้งที่มีกำลังผลิตรวมในประเทศราว 1 ล้านตันต่อปี  แต่วันนี้ถอยลงมาผลิตจริงได้ประมาณ 30 % ของกำลังการผลิต

ขณะนี้หลายบริษัทเผชิญภาวะขาดทุน บางรายแบกต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ได้และไม่สามารถแข่งขันกับการนำเข้ามาได้ก็ต้องเลิกกิจการไป บางรายหันไปเป็นผู้นำเข้าแทน

 ประเทศไทยจะปล่อยให้อุตสาหกรรมเหล็กที่ลงทุนสูง กว่าจะเกิดขึ้นมาได้จนถึงวันนี้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง ต้องสูญหายไปเพราะการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เพราะการดูแลจากภาครัฐยังไม่เต็มที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน จนผู้ผลิตถอดใจไปทีละราย จนกลายสภาพเป็นผู้นำเข้าแทน และสุดท้ายความเสี่ยงในการใช้เหล็กไปตกที่ผู้บริโภค

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง