นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาหอการค้าฯ ได้ดำเนินการทำหนังสือถึงนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขอขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศ ในการกำหนดให้ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยมีใจความว่า สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ได้ออก ประกาศกำหนดให้ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยกำหนดระยะเวลาใช้ บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ความละเอียดทราบแล้วนั้น
อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกับภาค ธุรกิจ และระบบเศรษฐกิจของประเทศ และความมั่นคงทางอาหารของโลก (Food Security) เนื่องจาก สารดังกล่าวใช้ในการเพาะปลูกพืชที่เป็นวัตถุดิบ สำหรับการแปรรูปทั้งอาหารคนและอาหารสัตว์ อาทิ ถั่วเหลือง ข้าวสาลีและแป้งข้าวสาลี กาแฟ โกโก้ เป็นต้น ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องใช้ในการอุปโภคบริโภค ในภาวะวิกฤต ประกอบกับในปัจจุบันสินค้าอาหารสำเร็จรูปของประเทศไทยผ่านเกณฑ์มาตรฐานสากลด้านความปลอดภัยทางอาหาร
และเป็นที่ยอมรับจากประเทศคู่ค้าทั่วไป และการผลิตเพื่อผู้บริโภคในประเทศและการส่งออกอุตสาหกรรม จำเป็นต้องนำเข้าสินค้าเกษตรบางรายการจากต่างประเทศ เนื่องจากการเพาะปลูก ในประเทศปริมาณไม่เพียงพอ หรือไม่สามารถเพาะปลูกได้ โดยเฉพาะกรณีของสินค้าเมล็ดถั่วเหลือง ประเทศไทยมีการนำเข้าเฉลี่ยปีละ 2.7-2.9 ล้านตัน (ไม่รวมการนำเข้าสินค้ากากถั่วเหลือง) ซึ่งประมาณ 2 ล้านตันนำไปใช้ในอุตสาหกรรมสกัดน้ำมันถั่วเหลือง ส่วนที่เหลือใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และแปรรูป อาหาร ซึ่งหากไม่ได้รับการพิจารณาขยายระยะเวลาการบังคับใช้ อาจส่งผลกระทบต่อการนำสินค้าขาเข้าจาก ต่างประเทศ ที่ต้องมีค่ากำหนดสารตกค้างจากสารเคมีดังกล่าวเป็นศูนย์ (Zero Tolerance) จนทำให้ขาด แคลนวัตถุดิบในการผลิต และเกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารทั้งในประเทศ และเพื่อการส่งออก อันจะยิ่งซ้ำเติม ระบบเศรษฐกิจไทยและมีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในช่วงวิกฤตนี้
ทั้งนี้ จึงใคร่ขอพิจารณาให้กระทรวงอุตสาหกรรม ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศในการ กำหนดให้ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยขอขยายระยะเวลาใช้บังคับ ออกไปถึง 31 ธันวาคม 2563 หรือจนกว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาจะสิ้นสุดลง และประเทศต่างๆ สามารถกลับมาทำการเกษตรตามปกติได้ รวมถึงความพร้อมในการปรับใช้สารทดแทนของประเทศไทย โดยทางหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จะหารือผู้ประกอบการเครือข่ายให้เร่งรัด การศึกษาและวิจัยเพื่อหาสารทดแทนการใช้สารทั้ง 3 ชนิด ในภาคเกษตร ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยี สมัยใหม่ในการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนทางการเกษตร พร้อมทั้งสนับสนุนการทำเกษตรปลอดภัย (GAP) เพื่อการป้องกันดูแลสุขภาพเกษตรกรและประชาชนผู้บริโภคตลอดห่วงโซ่อาหารต่อไป