เมื่อวันที 28 เมษายน 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเกษตรกรจะได้รับเงินช่วยเหลือ รายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน รวมทั้งสิ้น 1.5 หมื่นบาท ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2563
นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคเพื่อไทย จังหวัดลพบุรี เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ตรงกับวันก่อตั้งเกษตรกรปีที่ 48 แต่ปีนี้ไม่สามารถที่จะจัดงานได้เนื่องจากติด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามชุมนุมเกิน 50 คน เนื่องจากรัฐบาลกลัวการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เมื่อไม่ได้จัดงานจึงกลับไปที่บ้านจังหวัดลพบุรี ก็ไปตรวจสอบว่ายังเป็นสมาชิกที่ขึ้นทะเบียนหรือไม่ จึงเดินทางไปที่เกษตรอำเภอท่าวุ้ง ก็พบว่ายังเป็นเกษตรกรทำนาและทำสวน เลขทะเบียนเกษตรกร 160502-0190-1-1 วันที่ขึ้นทะเบียน วันที่ 3 สิงหาคม 2562 เนื่องจากการเป็น ส.ส. กฎหมายไม่ได้ห้าม ที่สำคัญก็ยังคงมีตำแหน่งพ่วงด้วยก็คือ “ประธานคณะกรรมการกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย”
“วันที่ไปแสดงตนไม่ได้มีเจตนาอยากจะได้เงินเยียวยา เพียงแต่อยากเช็กสถานะความเป็นเกษตรกรเท่านั้น สาเหตุที่ไม่ปรารถนารับเงินช่วยเหลือ เพราะว่าเงินนี้ไปกู้เอามาให้ จะทำให้เป็นภาระประชาชนที่ทำให้เป็นหนี้ ส่งผลในอนาคตคาดว่าจะทำให้ประชาชนเสียภาษีมาก จึงขอสละสิทธิ์ และไม่อยากให้เป็นภาระเงินภาษีของประชาชนด้วย อีกทั้งตนก็ยังมีเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 1 แสนบาทอยู่แล้ว ดังนั้นจึงขอสละสิทธิ์ ในเร็วๆนี้จะไปลงบันทึกประจำวันที่ สถานีตำรวจเพื่อเป็นหลักฐานแล้วก็จะนำเอกสารนี้ไปมอบให้ทางเกษตรอำเภอดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ดีแม้ว่าจะสละสิทธิ์เงินเยียวยาโควิด แต่จะไม่ยอมสละสิทธิ์ความเป็นอาชีพเกษตรกร”
เช่นเดียวกับนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า ไม่รับเยียวยาแต่ปฏิเสธความเป็นเกษตรกรไม่ได้ เพราะมีคนเดือดร้อนสาหัสกว่าเราเยอะมาก เพราะจิตสำนึกรับไม่ได้อยู่แล้ว ทั้งที่ผิดไหม เพราะเราเป็นอาชีพเกษตรกร แต่ก็ไม่รับ แม้กระทั่งเงินผู้สูงอายุ เป็นแค่ประชาชนธรรมดามีสิทธิ์ที่จะรับ แต่เราก็ไม่ได้รับตั้งแต่แรกแล้ว เพราะเราก็ไม่มีบำเหน็จบำนาญอะไรเลย ปัจจุบันเงินเดือน ของ ส.ว.แทบจะไม่มีกินเนื่องจากผมก็บริจาคเงินส่วนตัวไปสมทบตามหมู่บ้านต่างๆ ที่ทำกับข้าวมีคนไปส่งถึงบ้านเลย
“ขอให้เกษตรกรมีกำลังใจที่จะสู้ต่อไป เพราะรัฐบาลไม่ได้ช่วยแค่นี้ แล้วก็จะมีมาตรการอื่นๆ เช่น เรื่องหนี้สิน เป็นต้น เพราะตราบใดที่เกษตรกรยังมีหนี้สินอยู่ไม่มีขวัญและกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไป แล้วรัฐบาลจะต้องแก้ปัญหาระยะยาวต่อไปอีก ขอให้เกษตรกรมีกำลังใจไว้ เพราะเงิน 1.5 หมื่นบาท เป็นแค่เบื้องต้น แล้วในระยะยาวจะมีมาตรการออกมาอีก"
“โควิด” จะเห็นว่ารัฐบาลก็พยายามช่วยทุกสาขาอาชีพ แต่ด้วยงบประมาณจำกัด แล้วถ้าเป็นรัฐสวัสดิการตลอดก็จะล้มละลาย อย่าง “เวเนซุเอลา” เศรษฐีน้ำมันอันดับ 1 ของโลก ดังนั้นเมื่อใครยังพอทำมาหากินได้ก็ดูแลตัวเองไปก่อน แต่ถ้าเดือดร้อนจริง ปัจจุบันมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พ.ม.) ซึ่งผมเป็นรองประธานฯ ดูแลอยู่ อยากจะฝากถึงผู้นำชุมชุน ครอบครัวไหนยากจน เดือดร้อนจะฆ่าตัวตาย ให้แจ้ง พ.ม.จังหวัด หรือ อำเภอ จะลงมาดูแลทันทีเลย ช่วยเบื้องต้น 2,000 บาท เพราะฉะนั้นอย่าไปฆ่าตัวตาย มีทางออก