ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษายกคำร้อง กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ประกอบด้วย บริษัท นทลิน จำกัด, พริมา มารีน, แอสโซซิเอท อินฟินิตี้, พีเอชเอส ออแกนิค ฮีลลิ่ง และ ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรั๊คชั่น กรณีขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนพัฒนาแหลมฉบังเฟส 3 ที่ไม่รับซองเอกสาร ที่ 2 เพื่อร่วมลงทุนในโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ที่ผ่านมา เป็นที่แน่ชัดว่า ทุนใหญ่กลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี ประกอบด้วย กัลฟ์, พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล และ ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง ชนะประมูลไปโดยปริยาย
แม้ข้อเสนอผลตอบแทนรัฐต่ำกว่ากลุ่มแรกที่ถูกปรับตก คุณสมบัติ ส่งผลให้กลุ่มพนักงานรักษาผลประโยชน์การท่าเรือฯอ้างว่าเห็นความไม่ชอบมาพากลในการตัดสิทธิ เพราะกลุ่ม กิจการร่วมค้าจีพีซี (ปตท.-กัลฟ์) ให้ผลตอบแทน 35 ปี เพียง 1.2 หมื่นล้านบาท จากมูลค่าโครงการ 3.2 หมื่นล้านบาท ขณะกลุ่มถูกตัดสิทธิกลับให้ผลตอบแทนรัฐสูงถึง 2.7 หมื่นล้านบาท ประเมินว่าหากกลุ่มด้านพลังงานชนะประมูลการท่าเรือฯ ต้องหางบประมาณจากภาษีประชาชนจ่ายภาระหนี้ส่วนต่างกระทั่งอาจเกิดความเคลื่อนไหวขึ้นของพนักงานการท่าเรือฯ ขณะความคืบหน้าล่าสุด การเจรจาผลตอบแทนรัฐ กลุ่ม กิจการร่วมค้าจีพีซีกับการท่าเรือฯ ยังไม่ได้ข้อยุติ หลัง เจรจาไปแล้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมา
ขณะก่อนหน้านี้นายพีระพล งามเลิศ ตัวแทนกลุ่มพนักงานรักษาผลประโยชน์การท่าเรือฯ เข้าพบประธานสหภาพแรงงานการท่าเรือฯ เพื่อขอให้ประธานสหภาพตรวจสอบการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ดำเนินการให้เกิดความโปร่งใส ยุติธรรม ในการประมูล รักษาผลประโยชน์รัฐ และการท่าเรือฯ
มีเนื้อสาระสำคัญว่า เพื่อให้เกิดการแข่งขัน และสร้างโอกาสของการท่าเรือฯ ได้รับผลประโยชน์สูงสุดโดยคำนึงถึงผลตอบแทนที่การท่าเรือฯ ควรจะได้รับสูงสุด เพื่อนำมาพัฒนาหน่วยงาน ปรับปรุงสวัสดิการของพนักงานการท่าเรือฯ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ด้านเรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) การเจรจากับกลุ่ม จีพีซี ในส่วนของผลตอบแทนแก่รัฐ เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมานั้น เบื้องต้นยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากกลุ่มจีพีซี ได้จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับผลตอบแทนแก่รัฐต่างกันกับที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เคยอนุมัติราคากลาง อยู่ที่ 32,225 ล้านบาท ทำให้เอกชนดังกล่าว ต้องกลับไปเจรจากับที่ปรึกษาทางการเงินของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด กพอ.) เกี่ยวกับผลตอบแทนแก่รัฐ คาดว่ากลุ่ม กลุ่มจีพีซี จะกลับมาเจรจากับคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) อีกครั้งภายในเดือน พฤษภาคมนี้
“ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมา ทางกลุ่มจีพีซี ไม่ได้บอกรายละเอียดเกี่ยวกับผลตอบแทนให้รัฐกับเรา เนื่องจากวิธีการคิดและข้อมูลด้านการสื่อสารเกี่ยวกับผลตอบแทนให้รัฐต่างกัน ซึ่งเขาต้องกลับไปจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมอีกครั้ง หากการเจรจาครั้งหน้าผ่านไปได้ด้วยดี ก็จะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด กพอ.) หลังจากนั้นคาดว่าจะเสนอต่อที่ประชุมครม.ได้ภายในปีนี้”
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,573 วันที่ 10-13 พฤษภาคม พ.ศ. 2563