ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการปรับตัวของนายจ้างและลูกจ้างหลังสถานการณ์โควิด-19 น่าจับตามากโดยเฉพาะภาคส่วนแรงงานจะเกิดการปรับตัวครั้งใหญ่โดยเฉพาะแรงงานสูงวัยอายุ 40-45 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะแรงงานในวัย 40-45 ปี ซึ่งมีผลิตภาพต่อรายได้ (Productivity/Income) อยู่ในระดับต่ำจะมีความเสี่ยง ตลอดจนแรงงานในส่วนที่อาจถูกคุกคามจากเทคโนโลยีก้าวหน้าในรูปแบบต่างๆ หรือที่เรียกว่า “Disruptive Technology” ตัวแรงงานจะต้องมีการปรับตัวเพื่อยังให้มีคุณค่าที่ไม่ถูกให้ออกจากงานภายใต้โครงการสมัครใจลาออกในรูปแบบต่างๆ เกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนทัศนคติการทำงานใหม่ การใฝ่หาทักษะที่ยังทำให้ตนเองยังมีประสิทธิภาพเกี่ยวข้องกับทักษะที่เรียกว่า “Up Skill & Change Skill”
ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่ายุคหลังวิกฤติไวรัสโคโรนา 2019 ภูมิทัศน์ตลาดแรงงานจะเปลี่ยนไป นายจ้างจะคัดกรองคนที่กลับเข้าทำงาน รูปแบบการจ้างงานในลักษณะฟรีแลนซ์จะมากขึ้น รวมถึงการทำงานรูปแบบ “Work from home” จะเป็นแนวโน้มของตลาดแรงงาน โดยพนักงานอาจแปรรูปกลายเป็นเอาท์ซอร์ซเฉพาะด้านซึ่งจะเป็นรูปแบบการจ้างงานใหม่ วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้จะให้บทเรียนราคาแพงทั้งนายจ้างและลูกจ้างซึ่งจะต้องมีการเตรียมบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวกับ “Worst Case Risk Management” เพื่อการรับมือกับวิกฤติในอนาคต
ดร.ธนิตกล่าวอีกว่า “New Normal” จะทำให้เกิดเศรษฐกิจใหม่ในลักษณะเป็น NEO-Economy เกี่ยวข้องกับธุรกรรม-ธุรกิจจะเดินอยู่บนดิจิทัลแพลตฟอร์ม ตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปในลักษณะ “ New Life Style”
ซึ่งผู้บริโภคทั้งในประเทศและการส่งออกจะให้ความสำคัญกับสุขอนามัย เช่น “SPS” (Sanitary and Phytosanitary Measures) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช การเข้มงวดในการตรวจตราคนเข้าออกทั้งในระดับสนามบิน-เครื่องบินและการโดยสารสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า, รถโดยสาร, แท็กซี่ ในด้านการเดินทางจำเป็นที่จะต้องมีการบริหารความเสี่ยง “Risk Assessment” ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศจะมีความเข้มงวดด้านสาธารณสุข ตลอดจนการทบทวนฟรีวีซ่าทั้งของไทยและประเทศต่างๆ นอกจากนี้พฤติกรรมการบริโภคและการท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปจากเดิมและธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ จะหันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น