เอกชนดันทางคู่ "เด่นชัย-เชียงของ" เชื่อมอีอีซี-ลาว-จีนตอนใต้หลังช้า 60 ปี

23 พ.ค. 2563 | 11:45 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ค. 2563 | 12:13 น.

ธุรกิจท้องถิ่น 4 จังหวัดภาคเหนือ นำโดย สมาพันธ์ “เอ็สเอ็มอีไทย” กระทุ้งคมนาคม-รฟท. เร่งเวนคืนขยับก่อสร้าง ทางคู่สายใหม่ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” 323 กม.เปิดประตูขนส่งสินค้า-ท่องเที่ยว เชื่อมอีอีซี จากสปป.ลาว-จีนตอนใต้-กลุ่มประเทศเอเชียกลาง

รถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร เป็นเส้นทางรถไฟสายใหม่ต้องเวนคืนเปิดหน้าดินตลอดแนว ครอบคุลมพื้นที่ 4 จังหวัด ลานนาตะวันออก ประกอบด้วย จังหวัดแพร่ ลำปาง พะเยา และเชียงราย มีจุดเริ่มต้นจากสถานีเด่นชัย จ.แพร่ มุ่งไปทางทิศเหนือ ผ่านจังหวัดลำปาง ตามด้วยพะเยา และเชียงราย ไปสิ้นสุดบริเวณด่านพรมแดนเชียงของ ซึ่งมีรอยต่อเชื่อมโยงกับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว และจีนตอนใต้ โดยจีนได้สร้างเส้นทางรถไฟมารอไว้ยังสปป.ลาว หากทางคู่ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” เร่งก่อสร้าง เปิดใช้เส้นทางจะส่งผลดีด้านการขนส่งสินค้า และการท่องเที่ยว ขณะจีนเองหวังเพียงก่อสร้างเส้นทางเพิ่มอีกกว่า 100 กิโลเมตร เชื่อมโยงมายังสถานีเชียงของ ส่งผลให้สามารถขนส่งสินค้าเข้าไทยไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ได้อย่างสะดวก และนักลงทุนไทยก็เช่นกันจะได้ประโยชน์สูงจากเส้นทางการค้านี้ และสามารถส่งสินค้าทะลุผ่านจีนไปยังประเทศในแถบเอเชียกลางอย่าง คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน ฯลฯ อีกทั้งยัง เพิ่มทางเลือก, ลดต้นทุนการขนส่งด้านพลังงานและความปลอดภัยในการเดินทางอีกด้วย

เอกชนดันทางคู่ \"เด่นชัย-เชียงของ\" เชื่อมอีอีซี-ลาว-จีนตอนใต้หลังช้า 60 ปี

 

อย่างไรก็ตามจากความล่าช้า เสียเวลามา 60 ปี นับตั้งแต่เริ่มศึกษาเส้นทางปี 2503 และมีประกาศพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2510 จนกระทั่งปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากงบประมาณที่จำกัด เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เปลี่ยนขั้วรัฐบาลบ่อยครั้ง การต่อต้านของกลุ่มเอ็นจีโอในพื้นที่

กระทั่ง ถึงยุครัฐบาลปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับระบบขนส่งทางรางและกำหนดเป็นยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศบรรจุในแผนแม่บทระยะยาว พร้อมทั้ง มีมติอนุมัติโครงการ ทางคู่ช่วง “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” เมื่อปี 2561 หลังมีครม.สัญจรลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ในฐานะเจ้าของโครงการได้ผลักดันอย่างต่อเนื่องโดยยืนยันผลการศึกษา ที่ว่าเป็นเส้นทางที่ให้ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสูง โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นเมืองชายแดน และเมื่อรัฐบาล พัฒนา 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นเขตอีอีซี ได้ส่งผลดีอย่างมาก หากใช้รถไฟเส้นนี้ขนส่งสินค้า วิ่งยาวจากทางตอนเหนือของประเทศ มุ่งหน้ามาที่ท่าเรือแหลมฉบังได้ทันที

 

สำหรับความล่าช้าเสียโอกาสทางการแข่งขัน นาย บุญชู กมุทมาโนชญ์ ประธานสมาพันธ์SME ไทย รองประธานและเลขาธิการ สมาพันธ์SME ไทยภาคเหนือ ยืนยันผ่าน”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภาคเอกชนต้องการให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท. เร่ง ออกพ.ร.ฎ.เวนคืนและเปิดประมูลให้ทันภายในปีนี้ และหากเปิดให้ให้บริการทันภายในอีก 5 ปีข้างหน้าจะช่วยให้ทางตอนเหนือของประเทศบูมด้านการขนส่งสินค้า และการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นส้นทางใหม่ที่มีศักยภาพสูง เชื่อมโยงจาก สถานีปลายทางเชียงของ จังหวัดเชียงราย ข้ามไปยังสปป.ลาว และจีน ที่สร้างเส้นทางรถไฟรออยู่ก่อนแล้ว อีกทั้งยังสามารถส่งต่อสินค้าไปยังกลุ่มประเทศแถบเอเชียกลาง อย่างคาซัคสถาน อุซเบกิสถาน ฯลฯ ที่ต้องการสินค้าไทยในปริมาณสูง ขณะเดียวกันยังสามารถขนส่งสินค้าจากทางตอนเหนือ ลงมาสู่พื้นที่อีอีซี ก่อนส่งต่อไปยังประเทศใกล้เคียง ซึ่งรถไฟทางคู่ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตรเป็นอีกหนึ่งเส้นทางขยายพื้นที่การค้าให้กับภาคเอกชนไทยและ ประเทศเพื่อนบ้านได้ติดต่อไปมาหาสู่กันได้

ด้านแหล่งข่าวจาก รฟท. ระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างออกพ.ร.ฎ.เวนคืนและเตรียม  เปิดประมูลภายในปี 2563 นี้ ล่าสุดมีผู้รับเหมาทั้งจีน ไทย และชาติอื่นๆ ต่างให้ความสนใจจำนวนมากเพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสูง