“คมนาคม” ลุยจัดซื้อยางพารา หลังครม.ไฟเขียว

26 พ.ค. 2563 | 09:51 น.

“คมนาคม” เร่งถก ทล.-ทช. เดินหน้าจัดซื้อยาง หนุนสร้างแบริเออร์ยางพารา หวังช่วยเกษตรกรชาวสวนยาง-ลดอุบัติเหตุบนถนน เตรียมจดสิทธิบัตรภายใน 3 ปี

  นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการจัดซื้อยางพารามาใช้ในงานก่อสร้างและอำนวยความปลอดภัยทางถนน ดังนี้ 1.กระทรวงการคลังแก้ไขระเบียบพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ. 2563 และกฎกระทรวงกำหนดวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง พ.ศ.2560 โดยเพิ่มเติมแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier: RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) เป็นวัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน  เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา ตามนโยบายรัฐบาลในโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราของภาครัฐ

 

2.อนุมัติให้กรมทางหลวง(ทล.)และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ปรับแผนการก่อสร้างผิวทางจากแบบพาราแอสฟัลต์ติกคอนกรีต (PARA AC) เป็นผิวทางแบบแอสฟัลต์ติกคอนกรีต (AC) ในปีงบประมาณ63  ซึ่งจะทำให้เหลือเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท แบ่งเป็น ทล. 1,250 ล้านบาท และ ทช. 1,250 ล้านบาท  ให้นำมาใช้ในโครงการจัดซื้อแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ  ขณะเดียวกันได้เห็นชอบหลักการให้ ทล.และ ทช.เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 64 กรอบวงเงิน 39,175 ล้านบาท แบ่งเป็น ทล. 36,401 ล้านบาท และ ทช. 2,774ล้านบาท และ ปี 65 กรอบวงเงิน 43,995 ล้านบาท แบ่งเป็น ทล. 39,934 ล้านบาท และ ทช. 4,061 ล้านบาท เพื่อนำไปดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ และหลักนำทางยางธรรมชาติ

  นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ได้กำชับทล.และทชในการดำเนินโครงการจัดซื้อยางพารามาใช้ในงานก่อสร้างและอำนวยความปลอดภัยทางถนนอยู่บนหลักการที่ไม่รื้อเกาะกลางถนนหรือรื้อหลักนำทางเดิม แต่ให้ทำในส่วนที่ยังไม่มีเท่านั้น ทั้งนี้ในสัปดาห์หน้ากระทรวงคมนาคมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) เรื่องอุปกรณ์ทางด้านจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพารา จากนั้นทล.และทช.จะถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตให้กับกลุ่มสหกรณ์การเกษตรที่มีความพร้อมในการผลิต เพื่อจะได้จัดซื้อโดยตรงไม่ต้องผ่านนายหน้า อย่างไรก็ตามคงไม่ต้องจัดทำทีโออาร์   เนื่องจากเป็นการซื้อยางพาราโดยตรง  ซึ่งทุกกระบวนการจะมีการตรวจสอบภายใต้มาตรฐานตามที่ ทล.และทช.กำหนด จึงมั่นใจว่ามีความโปร่งใสแน่นอน

 

ขณะนี้ได้สั่งการให้ทช.ไปจดสิทธิบัตรแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ เพราะถือเป็นนวัตกรรมที่ทช.คิดค้นขึ้นมาเอง  เนื่องจากไม่ต้องการให้ใครนำไปเป็นเจ้าของ  รวมถึงในอนาคตกระทรวงคมนาคมต้องไปเสียค่าลิขสิทธิ์เพื่อนำมาผลิตในภายหลัง  ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมจะดำเนินการโครงการยางพาราในระยะเวลา 3 ปี โดยใช้น้ำยางกว่า 1 ล้านต้น  ซึ่งจะทำให้เกิดเสถียรภาพกับการใช้ยางและราคายางมีความมั่นคง  ขณะเดียวกันโครงการนี้จะเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยในถนนทล.และทช.ที่เป็น 4 เลนขึ้นไป ที่อย่างน้อยจะทำให้อุบัติเหตุที่เกิดจากการตัดหน้า19.1% หมดไป อีกทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการก่อสร้างให้เร็วขึ้น 8 เท่า จากเดิมการทำเกาะกลางทั่วไป 1 กิโลเมตร(กม.)ใช้เวลาประมาณ 2- 3 เดือนจะเหลือแค่ประมาณ 1 สัปดาห์เท่านั้น

อย่างไรก็ตามถนนสายแรกที่จะดำเนินโครงการให้ทล.และทช.สำรวจข้อมูลโดยยึดเอาสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนถนนทล.และทช.มาเรียงลำดับความสำคัญตั้งแต่ปี 2563 - 2565 รวมทั้งให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาวิธีการเคลือบแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต ให้มีอายุการใช้งานนานขึ้น เนื่องจากการศึกษาพบว่า  ในระยะเวลา 3 ปี ยางพาราจะกรอบ เพราะถูกแดดและฝน จึงอยากให้ยืดอายุการใช้งานออกไปอีก  5  ปี เพื่อประหยัดงบประมาณ  ตลอดจนให้ศึกษาเพิ่มเติมว่ายางหลังหมดอายุใช้งานแล้วสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หรือไม่