“สุริยะ” เตรียมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เสนอ “สศช.” ภายใต้ “พ.ร.ก.” กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท

03 มิ.ย. 2563 | 09:50 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มิ.ย. 2563 | 04:24 น.

“สุริยะ” เตรียมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เสนอ “สศช.” ภายใต้ “พ.ร.ก.” กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท 5 มิถุนายนนี้ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลัง "โควิด-19"

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ  รัฐมนตรีว่ากากระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจหลัง "โควิด-19" (Covid-19) ของกระทรวงฯภายใต้กรอบพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นกรอบวงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000  ล้านบาท ที่จะต้องนำเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ “สศช.” วันที่ 5 มิถุนายน 63 ว่า ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นฐานและการพัฒนาเหมืองแร่ หรือ “กพร.” จะใช้งบในการพัฒนาโครงการสูบน้ำจากขุมเหมืองด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โดยจะคัดเลือกจากพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งการนำน้ำจากขุมเหมืองไปใช้จะเป็นการดำเนินการที่ต้นทุนน้อยกว่าการดำเนินการขุดแหล่งกักเก็บน้ำใหม่

โดยจัดทำฐานข้อมูลของขุมเหมืองทั่วประเทศ สำรวจ ตำแหน่งที่ตั้งของขุมเหมือง ความมั่งคงแข็งแรง ความคุ้มทุนในการก่อสร้างระบบกระจายน้ำ สภาพอุตุอุทกวิทยา และความต้องการการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่ข้างเคียง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการศึกษาความเป็นไปได้ทั้งด้านเทคนิค เศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้การพัฒนาการใช้ประโยชน์จากขุมเหมืองเป็นไปอย่างยั่งยืน เป็นธรรม ประโยชน์ที่จะได้รับ จะสามารถช่วยภัยแล้งโดยการใช้แหล่งน้ำดิบจำนวน 20 แห่ง ปริมาณน้ำเพิ่มเติมจากการพัฒนาแหล่งน้ำ ประมาณ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเพิ่มขึ้น 20,000 ไร่ ประชาชนและเกษตรกรรอบขุมเหมืองประมาณ 4,000 ครัวเรือน และเกิดการจ้างงานของคนในพื้นที่จำนวน 500 คน ในช่วงระหว่างการก่อสร้าง และเป็นการช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรม/สินค้าวัสดุก่อสร้าง โดยมีตัวอย่างความสำเร็จจา เหมืองแม่ทาน จังหวัดลำปาง

“สุริยะ” เตรียมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เสนอ “สศช.” ภายใต้ “พ.ร.ก.” กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท

ส่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือ “กรอ.” จะใช้ในการช่วยเหลือโรงงานเพื่อแปลงเครื่องจักรเป็นทุนโดยการบำรุงรักษาเครื่องจักรสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากต้องหยุดกิจการกระทันหัน ส่งผลให้โรงงานอุตสาหกรรมขาดรายได้หรือไม่ได้รับรายได้ตามที่คาดการณ์ไว้ ในขณะที่รายจ่ายต่างๆ ยังคงจำนวนอยู่เท่าเดิม ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ติดต่อกันเป็นเวลานานทำให้ไม่มีเงินสดมาใช้หมุนเวียนในกิจการ ซึ่งหากยังคงเป็นแบบนี้อีกต่อไปจะทำให้โรงงานอุตสาหกรรมต้องปิดตัวลง ส่งผลกระทบให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวอย่างรุนแรงเป็นวงกว้าง ดังนั้น การเตรียมความพร้อมเพื่อขอรับเงินทุน เช่น การจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร การขอรับเงินทุนจากสถาบันการเงิน หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง จะช่วยผู้ประกอบการในการฟื้นฟูได้เร็วยิ่งขึ้น

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ “กสอ.” ชูโครงการอุตสาหกรรมฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศรองรับวิถีความปกติใหม่  โดยมีเป้าหมายกว่า 1 ล้านคน ผลผลิตครอบคลุม 14,150 กิจการ ครอบคลุม 500 หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัวให้ถูกทาง อย่างยั่งยืน ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ 9.6 หมื่นล้านบาท โดยมีทิศทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมฝ่าวิกฤตโควิด-19 มุ่งสู่วิถีความปกติใหม่ (New Normal) (ดูภาพประกอบ)

“สุริยะ” เตรียมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เสนอ “สศช.” ภายใต้ “พ.ร.ก.” กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท

              ,สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ “สมอ.” เตรียมการด้านการมาตรฐาน สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้ภาวะของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน จนเกิดคำนิยามของพฤติกรรมใหม่นี้ว่า New Normal ที่มีการใช้แนวทางระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทในการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม จึงได้นำเสนอโครงการในการพลิกฟื้นภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดดังกล่าวให้กลับมาสามารถประกอบกิจการได้ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยผู้ประกอบการในการลงทุนด้านการมาตรฐานเพื่อพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อช่วยเหลือ ลดภาระ เพิ่มรายได้  สร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินกิจการได้อย่างยั่งยืน

              สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม หรือ “สศอ.” นำเสนอโครงการในการผลักดันอุตสาหกรรมการผลิตสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์การแข่งขันและ New Normal ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 เช่น อุปกรณ์ Smart Electronic Devices, Medical Service Robot, Smart farming และ Smart Factory โดยมีเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งสร้างคุณค่าเพิ่ม (Value Added)

รวมทั้งมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค รวมทั้งแนวคิดในการเพิ่มสัดส่วนการใช้ Supply Chain ภายในประเทศ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นการบริโภคในประเทศตลอดจนการใช้โอกาสในช่วงวิกฤตในการสร้างเครือข่ายและคลัสเตอร์ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนและสนับสนุนการทำธุรกิจและอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยการวางมาตรการผู้ประกอบการสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล หรือ “สอน.” นำเสนอโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยปรับเปลี่ยนไร่อ้อยให้เหมาะกับการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรมุ่งสู่เกษตรแปลงใหญ่ โดยจะสนับสนุนพันธุ์อ้อยพันธุ์ดีแจกให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ปลูกอ้อยใหม่ ให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด ในฤดูการผลิต 2563/64 จำนวน 20,000 ตัน เกษตรกรชาวไร่อ้อยเข้าร่วมโครงการ 4,000 ราย ปรับพื้นที่เพื่อรองรับการใช้งานเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อพัฒนาเป็นเกษตรแปลงใหญ่มุ่งสู่ Smart Farm จำนวน 100,000 ไร่ รวมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลระบบชี้นำเตือนภัยและบริหารจัดการไร่อ้อย ที่ครอบคลุมการจ้างเกษตรกรชาวไร่อ้อย (อาสาสมัครกลุ่มเรียนรู้) จำนวน 5,000 ราย

สำนักงานปลัดอุตสาหกรรม หรือ “สปอ.” ในฐานะหน่วยงานการบูรณาการงานในเชิงพื้นที่ ได้มีข้อเสนอโครงการสำคัญที่บูรณาการจุดเด่นในเชิงพื้นที่ รวมทั้งแนวทางในการดำเนินการร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ ภูมิภาค ของมหาวิทยาลัยทั้ง 16 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งมีศักยภาพและความเข้มแข็งทั้งองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีไปจนถึงด้านสังคมที่พร้อมจะสร้างให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรมภายใต้ความพร้อมของสถาบันการศึกษา ทั้งบุคลากร อาจารย์ นักวิจัย รวมถึงอุปกรณ์เครื่องมือ โรงงานต้นแบบ และห้องปฏิบัติการในสาขาวิชาที่หลากหลาย อันจะนำไปสู่การผลักดันรายได้ต่อหัวของประชาชนในภาคการผลิตและบริการให้เพิ่มขึ้นผ่านการขับเคลื่อนของสถาบันการศึกษาในพื้นที่ภูมิภาค ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้อีกด้วย

“กระทรวงอุตฯ ได้มีการหารือเพื่อให้ข้อเสนอโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อการฟื้นฟูกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ มีความชัดเจนในเรื่องพื้นที่ดำเนินการ รวมทั้งประโยชน์ที่จะได้รับในระดับพื้นที่ในเชิง Local Economy เพื่อให้สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ สำหรับวิถี New Normal ได้ในระยะยาว”

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดได้เร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลง แบบเฉียบพลัน (Disruption) ในหลายธุรกิจให้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้น ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า หลายอุตสาหกรรมจะเผชิญการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วิถีความปกติใหม่ และไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้อีก หลายหน่วยงานได้มีการลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทย หรือ “จีดีพี” (GDP) ปี 63 ลงเหลือขยายตัวติดลบประมาณ 5.3%

“สุริยะ” เตรียมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เสนอ “สศช.” ภายใต้ “พ.ร.ก.” กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท

บทวิเคราะห์ผลกระทบจากสถานการณ์ Covid-19 ต่อเศรษฐกิจไทยของหลายสถาบันที่ระบุว่า อุตสาหกรรมหลายส่วนน่าจะได้รับผลกระทบ เช่น อุตสาหกรรมส่งออก อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ โดยภาคบริการและการท่องเที่ยวที่น่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงและยาวนานที่สุด นอกจากนี้ TDRI-EIS คาดว่า สถานการณ์ Covid-19 จะทำให้แรงงานได้รับผลกระทบกว่า 37.4 ล้านคน โดยเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างสูงกว่า 9.7 ล้านคน

“เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถฟื้นฟู เยียวยา ได้เร็วที่สุด กระทรวงฯ จึงได้เตรียมการเสนอโครงการที่จะช่วยลดผลกระทบในระยะสั้น รวมทั้งเตรียมโคตรงการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตามกรอบแนวทางข้างต้น โดยมีข้อเสนอโครงการ ที่สามารถช่วยให้หลายกิจการจำเป็นต้องลดภาระค่าใช้จ่าย ลดต้นทุน ตลอดจนลดแรงงาน รวมถึงบางส่วนจำเป็นต้องปิดกิจการ และเลิกจ้างแรงงาน ทั้งนี้ ได้มีการหารือกับภาคเอกชนและผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยภาคอุตสาหกรรมต้องการให้ภาครัฐสนับสนุน ใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1. ด้านการเงิน 2. ด้านการตลาด 3. ด้านเทคโนโลยี และ 4. ด้านพัฒนาองค์ความรู้และบริหารจัดการธุรกิจ ซึ่ง กระทรวงฯ ได้มีการรวบรวมโครงการสำคัญเตรียมเสนอต่อ สศช.”