นายชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส “โควิด-19” (Covid-19) ส่งผลทำให้โรงงานทางด้านสิ่งทอในประเทศจะต้องปิดกิจการประมาณ 10% ภายในปีนี้ หรือประมาณ 100 โรงงานจากทั้งหมด 4,000 โรงงาน
ทั้งนี้ สัญญาณดังกล่าวเริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนมกราคม ซึ่งยังไม่มีการแพร่ระบาดของไวรัส โดยการส่งออกสิ่งทอของไทยในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมยังทรงตัว แต่เดือนเมษายนติดลบไปมากกว่า 50% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
“ขณะนี้มีหลายโรงงานที่จะต้องปิดกิจการอย่างแน่นอน เพราะทำผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน หรือมีเป้าหมายเป็นจำนวนมากแบบไม่เฉพาะเจาะจง (MASS) รวมถึงไม่มีการนำนวัตกรรมมาปรับใช้เพื่อเพิ่มมูลค่า และยังเน้นการแข่งขันทางด้านราคา”
อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์ที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถฝ่าวิกฤติไปได้ ก็คือจะต้องมีการปรับตัวเข้าสู่สิถีใหม่ของการทำธุรกิจ โดยตลาดสิ่งทอทางการแพทย์จะเป็นตลาดน่าสนใจ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขอนามัย และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการปกป้องตนเอง เพราะผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ จะต้องมุ่งเน้นการทำตลาดในประเทศเป็นหลัก โดยประเทศไทยมีโอกาสที่จะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ ซึ่งอุตสาหกรรมสิ่งทอก็จะเป็นส่วนหนึ่งของมิติดังกล่าว ซึ่งไทยมีความโชคดีที่มีอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ที่สามารถพัฒนาผลิตภัรพ์ขึ้นมาตอบโจทยืดังกล่าวนี้ได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังขาดสำหรับผู้ประกอบการไทยก็คือเรื่องขององค์ความรู้ทางด้านมาตรฐาน ยังไม่ค่อยรู้เรื่องการทดสอบเพื่อให้ได้มาตรฐานสากล และไม่ค่อยรู้จากการวิจัยและพัฒนา (R&D) มากนัก โดยโรงงานขนาดใหญ่จะได้เปรียบเพราะมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ส่วนโรงงานขนาดเล็กจะต้องเชื่อมโยงกับดรงงานขนาดใหญ่ในการทำธุรกิจไปด้วยกัน
“ปัจจุบันหลายโรงงานหันมาทำ หน้ากากผ้า ที่ได้มาตรฐาน ผลิต ชุด PPE ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของตลาดเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ โดยต้องเรียนว่าชุด PEE ไม่ได้ใช้เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น แต่ยังสามารถขยายตลาดไปสู่อุตสาหกรรมสปา คนเก็บขยะ และแอร์โฮสเตส ได้ด้วย ล่าสุดทางกรุงเทพมานคร ได้เข้ามาติดต่อสถาบันฯ เพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศแทนการนำเข้า เช่น เสื้อผ้ากีฬา ชุดยูนิฟอร์ม โดยสถาบันฯจะพยายามเชื่อมโยงอุตสาหกรรมสิ่งทอกับตลาดเข้าด้วยกัน โดยตลาดในประเทศคือความหวังของผู้ประอบการไทย”
นายชาญชัย กล่าวต่อไปอีกว่า ภาครัฐจะต้องเป็นผู้นำทางให้กับผู้ประกอบการ โดยการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มองเห็นตลาด และนำไปสู่การผลิต ซึ่งสถาบันฯก็จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการให้ความรู้ทางด้านการทอสอบให้ได้มาตรฐานสากล
“งบประมาณที่ใช้ลงทุนไม่เยอะมาก เพราะไลน์การผลิตเรามีแล้ว แต่สิ่งสำคัญคือความรู้ในการพัฒนาผลิตใหม่ และการวิจัย เพราะงานทางด้านการแพทย์จะต้องผ่านมาตรฐานให้ได้ โดยผู้ประกอบการเองก็มีหลายระดับ กลุ่มผู้นำปรับได้ไวมาก แต่กลุ่มใหญ่จะอยู่ตรงกลาง ต้องให้เวลา ส่วนกลุ่มข้างล่างหนักหน่อยอาจจะต้องปิดกิจการไปหากไม่พัฒนา”