ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ “กกร” ซึ่งประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ,สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย มีมติเห็นชอบที่จะขอให้ บรรษัทประกันสินเชื่อขนาดย่อม หรือ บสย. เข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 5 แสนล้านบาทจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ “เอสเอ็มอี” (SMEs) ต่ออีก 2 ปี หลังจากที่สิ้นสุดโครงการในระยะเวลา 2 ปีตาม พ.ร.ก.
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนารไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันวงเงินดังกล่าวมีการปล่อยสินเชื่อออกไปแล้วประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท ยังเหลือวงเงินที่จะปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีอีกมาก ที่สำคัญที่ผ่านมาก็มีปัญหาทางด้านของการปฏิบัติงานอยุ่บ้าง ดังนั้น กกร. จึงเห็นว่าทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันบริหารจัดการเงื่อนไขของการปลอยสินเชื่อเพื่อให้ทางปฏิบัติมีความคล่องตัวมากขึ้น เช่น การให้ บสย. มาช่วยค้ำประกันดังกล่าว ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี หรือ PGS9
“การเร่งผลักดันการใช้วงเงิน Soft Loan ดังกล่าว ให้มีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว จะมีส่วนสนับสนุนภาคธุรกิจเอกชนโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีให้สามารถประคองกิจการต่อไปได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้”
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ขณะนี้โครงการ PGS9 อยู่ระหว่างขั้นตอนของการขออนุมัติจากกระทรวงการคลัง โดยหากเป็นไปได้ก็ต้องการให้นำโครงการดังกล่าวมาช่วยค้ำประกันสินเชื่อ Soft Loan ของ ธปท. ต่อไปอีก 2 ปี หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาของโครงการ เพราะมองว่าระยะเวลาแค่ 2 ปี หากจะให้เอสเอ็มอีชำระคืนเงินกู้ก็คงจะเป็นไปได้ยาก
“บสย.จะมีส่วนสำคัญในการเข้ามาช่วยผลัดผ่อนเกณฑ์ในการผ่อนชำระให้กับเอสเอ็มอี เพื่อให้ธนาคารสามารถดูแลเอสเอ็มอีต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง”