กรมเจ้าท่า ออกประกาศ ที่ 97/2563 เรื่องให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การต่อสร้าง หรือดัดแปลงเรือที่มีความยาวตลอดลำตั้งแต่ 24 เมตร ขึ้นไปโดยเคร่งครัด เพื่อให้เจ้าของเรือ ผู้ต่อเรื่อ หรือผู้ออกแบบเรือ (ฉบับที่37) พ.ศ. 2553 และระเบียบกรมเจ้าท่าว่าด้วยการตรวจอนุมัติแบบแปลนเรือฉบับที่1 พ.ศ. 2529 ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกับการอนุมัติแบบแปลนเรือและการตรวจสอบเรือก่อนดำเนินการต่อสร้างเรือ หรือดัดแปลงเรือที่ได้รับใบสำคัญรับรองการตรวจเรือแล้ว จึงออกประกาศแจ้งเตือนให้เจ้าของเรือ ผู้ต่อเรือ หรือผู้ออกแบบเรือ ปฎิบัติการให้ถูกต้องตามกฎข้อบังคับและระเบียบดังกล่าวโดยเคร่งครัด ดังนี้
ข้อ1 การต่อสร้างหรือดัดแปลงเรือที่มีความยากตลอดลำตั้งแต่ 24 เมตรขึ้นไป ต้องยื่นคำร้องขอเพื่อขออนุมัติแบบแปลนเรือก่อนดำเนินการต่อสร้างหรือดัดแปลงเรือทุกครั้ง
ข้อ 2 เมื่อได้รับอนุมัติแบบแปลนเรือแล้วให้เจ้าของเรือ ผู้ต่อเรือ หรือผู้ออกแบบเรือ แจ้งสำนักมาตรฐานเรือหรือสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาทราบ ไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนการต่อสร้าง หรือดัดแปลงเรือ เพื่อให้เจ้าพนักงานตรวจเรือหรือเจ้าหน้าที่ตรวจเรือจากองค์กรที่ได้รับการยอมรับจากกรมเจ้าท่า ตรวจการต่อสร้างหรือดัดแปลงเรือทุกครั้ง
ข้อ3 เมื่อได้ดำเนินการต่อสร้างหรือดัดแปลงเรือเสร็จสมบูรณ์ให้เจ้าของเรือ ผู้ต่อเรือ หรือผู้ออกแบบเรือ ดำเนินการจัดส่งแบบแปลนตามที่ได้ต่อสร้างหรือดัดแปลงเรือจริงไปยังสำนักมาตรฐานเรือ หรือสำนักเจ้าท่าภูมิภาคสาขาแล้วแต่กรณีให้ทราบด้วยทุกครั้ง
ข้อ4 ในกรณีที่พบว่าเรือที่มีความยาวตลอดลำตั้งแต่ 24 เมตรขึ้นไป ทำการต่อสร้างหรือดัดแปลงเรือจนแล้วเสร็จโดยไม่ได้รับการอนุมัติแบบแปลนเรือก่อน เจ้าพนักงานตรวจเรือจะไม่ทำการออกใบสำคัญรับรองการตรวจเรือให้
ข้อ5 กรณีเรือที่ยังไม่ได้ปฎิบัติกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ 37) พ.ศ.2553 ให้เจ้าของเรือ ผู้ต่อเรือ หรือผู้ออกแบบเรือ แจ้งกรมเจ้าท่าทราบ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องภายใน 45 วัน นับถัดจากวันที่ลงนามในประกาศนี้ ประกาศ ลงนาม ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2563 โดย นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า
แหล่งข่าวผู้ประกอบการเรือประมงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากประกาศของกรมเจ้าท่า ให้เรือทุกลำ ทุกประเภท ทุกเครื่องมือที่มีความยาวตลอดลำตั้งแต่ 24 เมตร ขึ้นไปแบบแปลนเรือ ค่าใช้จ่าย ประมาณ 3 หมื่นบาทถึง 5 หมื่นบาท ซึ่งทำให้ชาวประมงเกิดความสับสนเกี่ยวกับวิธีการปฎิบัติและการบังคับใช้กับเรือประมง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ในแต่ละพื้นที่ปฎิบัติไม่เหมือนกัน และส่งผลกระทบต่อการต่อใบอนุญาตใช้เรือในปัจจุบัน
ทางสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย โดยนายกำจร มงคลตรีลักษณ์ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย จะนำคณะกรรมการสมาคมเข้าพบหารือกับอธิบดีกรมเจ้าท่า ในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ เนื่องจากการเขียนแบบแปลน ตามความหมายต้องเป็นเรือใหม่ แต่พอมาตีขลุมเรือเก่าจะต้องมีแบบแปลนด้วย จะไปหามาจากไหน แล้วค่าใช้จ่ายแบบแปลนอีกเป็นภาระของผู้ประกอบการเรือประมง ซึ่งตอนนี้เดือดร้อนกันมาก
“หากตามประกาศ เรือที่ 24 ม.ขึ้น หากไม่มีแบบแปลนเรือ ภายใน 45 วัน นับจากวันออกประกาศ ซึ่งจะครบวันที่ 5 ก.ค.นี้ ปัจจุบันคาดว่าทั่วประเทศทุกเครื่องมือมีกว่า 300 ลำ ซึ่ง หากไม่มีแบบแปลน นายช่างก็จะไม่ออกใบสำคัญรับรองการตรวจเรือ ส่งผลให้ ต่อใบอนุญาตใช้เรือ ไม่ได้เรือประมง ก็ออกทำประมง ไม่ได้อีก ! แล้วถ้าเป็นไปได้อยากเสนอให้กรมเจ้าท่าพิจารณาการกำหนดวันหมดอายุในใบอนุญาตการใช้เรือให้วันหมดอายุพร้อมกับใบอนุญาตประมงพาณิชย์ เช่นเดียวกันกับในช่วงคำสั่ง คสช.”
ส่วนผลการหารือนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" จะติดตามรายงานข่าวมาเสนอตอนต่อไป