นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ “บีโอไอ” (BOI) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บอร์ดบีโอไอ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบให้การส่งเสริมการลงทุน แก่โครงการขนาดใหญ่จำนวน 5 โครงการ รวมมูลค่าลงทุน 41,834 ล้านบาท ได้แก่ 1.กลุ่มบริษัท สามมิตร เงินลงทุน 5,500 ล้านบาท ในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicles-BEV) ปีละประมาณ 30,000 คัน ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นมูลค่าปีละประมาณ 8,500 ล้านบาท โดยจะจำหน่ายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ตั้งโครงการที่จังหวัดเพชรบุรี
2.บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เงินลงทุนรวม 24,113 ล้านบาท ในกิจการผลิตไฟฟ้าจากกากน้ำมัน (PITCH) 250 เมกะวัตต์ และกรดกำมะถัน (Sulfuric Acid) ปีละประมาณ 80,300 ตัน ตั้งโครงการที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
3.บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด กิจการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิด PET (FOOD GRADE) สำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มและอาหาร และเม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิด HDPE สำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์สิ่งประทินร่างกายและสินค้าอุปโภคในครัวเรือน มูลค่าเงินลงทุน 2,476 ล้านบาท และตั้งโครงการที่นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย จังหวัดระยอง
4.บริษัท บี.กริม พาวเวอร์ (แหลมฉบัง) 1 จำกัด เงินลงทุน 6,000 ล้านบาท กิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและไอน้ำ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 157 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 75 ตัน/ชั่วโมง เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และโรงงานอุตสาหกรรม ตั้งโครงการที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี
และ5.บริษัท บางกอก อารีน่า จำกัด เงินลงทุน 3,745 ล้านบาท ในกิจการหอประชุมขนาดใหญ่ เพื่อช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยว และเป็นการส่งเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรม MICE ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ตั้งโครงการที่อาคารบางกอก มอลล์ ถนนบางนา-ตราด กรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบส่งเสริมการลงทุนตามหลัก BCG สร้างความเข้มแข็งภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยให้มีการปรับสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรตามแนวคิด BCG เพื่อนำความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมเกษตร
สำหรับมาตรการส่งเสริมลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรตามแนวคิด BCG ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานรากควบคู่กับการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา บีโอไอให้การส่งเสริมการลงทุนแก่ภาคเกษตรตลอดสายห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงอุตสาหกรรมและบริการที่เกี่ยวข้อง และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการลงทุนยกระดับและสร้างความเข้มแข็งของภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร บีโอไอจึงปรับปรุงประเภทกิจการ เงื่อนไข และสิทธิประโยชน์ ดังนี้
1.เพิ่มประเภทกิจการด้านการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ได้แก่ กิจการโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) ซึ่งเป็นระบบการเพาะปลูกที่มีระบบควบคุมสภาพแวดล้อมในการปลูกพืชทั้งทางกายภาพ เช่น การควบคุมความเข้มแสง อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แร่ธาตุต่าง ๆ และการควบคุมสภาพแวดล้อมทางชีวภาพ เช่น การปนเปื้อนของเชื้อโรคและแมลงจากน้ำ อากาศ และผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น ผลิตภัณฑ์เกษตรที่ได้ต้องมีคุณภาพ ความปลอดภัย และตอบสนองความต้องการทั้งในประเทศและส่งออกได้ จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 5 ปี
2.ปรับปรุงขอบข่าย เงื่อนไข และสิทธิประโยชน์ของบางประเภทกิจการ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และให้มีความยืดหยุ่นในการให้การส่งเสริมการลงทุนมากขึ้น ได้แก่ กิจการคัดคุณภาพ บรรจุ และเก็บรักษาพืช ผัก ผลไม้ หรือดอกไม้ กิจการห้องเย็นและขนส่งห้องเย็น กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากผลพลอยได้หรือเศษวัสดุทางการเกษตร หรือผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบที่มาจากผลพลอยได้หรือเศษวัสดุหรือของเสียจากการเกษตร กิจการผลิตอาหารสัตว์/ส่วนผสมอาหารสัตว์ โดยกระตุ้นให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในกิจการ รวมทั้งมีการรักษาสิ่งแวดล้อม