นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มูลค่า 1.1 แสนล้านบาท ทั้งงานโยธาสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และงานเดินรถตลอดเส้นทาง ซึ่งจะออกหลักเกณฑ์ (ทีโออาร์) ภายในเดือน ก.ค.63ทั้งนี้สายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ที่มีการร้องเรียนของชุมชนแม่เนี้ยว (ประชาสงเคราะห์) หลังถูกบุกรุกพื้นที่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่จำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ดิน ซึ่งไม่ใช่แค่ครั้งแรก เชื่อว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) สามารถแก้ไขปัญหาเพื่อดำเนินการตามกระบวนการได้
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ปัจจุบันสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มูลค่ารวม 1.1 แสนล้านบาท ขณะนี้เตรียมจัดทำเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) ภายในเดือน ต.ค.63 ซึ่งเป็นการลงทุนในรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) โดยให้รัฐจ่ายเงินค่าเวนคืนที่ดิน มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท และค่าเงินให้เอกชนลงทุนไม่เกินค่างานโยธา มูลค่า 9.6 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้จะเปิดให้เอกชนยื่นซองประมูลโครงการสายสีส้มตะวันตก ภายในเดือน ต.ค. 63 คาดว่าจะได้ข้อสรุปผลการประมูลภายในสิ้นปี 2563 ทั้งนี้ได้กำหนดเปิดให้บริการในปี 2568 ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกมีกำหนดเปิดบริการภายในปี 2566
สำหรับคณะกรรมกฤษฎีกาที่มีการตีกลับร่างพระราชกฤษฎีกาการกำหนดเวนคืนที่ดิน (พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน) ของสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นั้น ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการแก้ไขรายละเอียดร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณใช้ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เห็นชอบอีกครั้ง ซึ่งไม่หน้าจะมีปัญหา เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทางขึ้น-ลงของแต่ละสถานีรถไฟฟ้าเท่านั้น. ส่วนพื้นที่การเวนคืนที่ดินสายสีส้มตะวันตก เบื้องต้นจะมีการสำรวจพื้นที่เวนคืนที่ดินอีกครั้ง
อ่านข่าว มาแล้ว! รถไฟฟ้า "สายสีทอง" ทำไมต้องไร้คนขับ-ใช้ล้อยาง?
นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ มูลค่า 1.3 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างเตรียมการเปิดประมูลงานโยธา มูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาท และค่าเวนคืนที่ดิน มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท ภายในเดือน ก.ย.63 และคาดว่ารู้ผลการประมูลภายในปลายปีนี้
ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี มูลค่า 4.8 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบฐานรากที่มีการทับซ้อนกับโครงการทางด่วนN1 ข้าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และทางด่วนN2 เกษตร-นวมินทร์ของ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ระยะทาง 7 กม. ทั้งนี้รฟม.เตรียมยื่นแบบเสนอต่อกทพ. ซึ่งเป็นผู้รับเหมารายเดียวกันกับกทพ. เพื่อดำเนินการสร้างฐานรากบริเวณดังกล่าว ภายในกลางเดือน ก.ค.63
ส่วนการประมูลสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี จะเริ่มประมูลได้เมื่อไรนั้น ขึ้นอยู่กับ กทพ.เป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งจะให้กทพ.เดินหน้าก่อสร้างโครงการดังกล่าวไปก่อน หลังจากนั้นเตรียมจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษารายละเอียดความเหมาะสมในการออกแบบ ภายในเดือน ก.ย.63 และจัดเตรียมเอกสารการประกวดราคา ของสายสีน้ำตาลในรูปแบบ PPP คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลได้ภายในต้นปี 2564