เมืองการบินอู่ตะเภา “หมอเสริฐ”ลั่นไม่ยาก

22 มิ.ย. 2563 | 00:00 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มิ.ย. 2563 | 02:48 น.

“หมอเสริฐ”เปิดใจพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ไม่ใช่เรื่องยาก หากเทียบกับการลงทุนของBAในอดีต มุ่งสู่เป้าสร้างเมืองการบิน บูมอีอีซี  มั่นใจจ่ายผลตอบแทนให้รัฐได้ตามแผน คาดเฟสแรก คืนทุนใน 10 ปี ชี้ 4 เฟสลงทุน 2 แสนล้านบาท พร้อมแบ่งเค้กปักหมุดลงทุนเชิงพาณิชย์ ต่อยอดธุรกิจของBA-บีทีเอส 

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก พร้อมเดินหน้าลงทุนแล้ว หลังจากบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ผู้ชนะประมูล ได้ตั้งขึ้น โดยมีบริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือBA ถือหุ้น 45% บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)หรือBTS  35% และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น20%) ได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนพัฒนาโครงการนี้ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรม การนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา

นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่ปรึกษาประธานคณะผู้บริหาร บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าเป้าหมายในการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ตลอดอายุสัญญา 50 ปี  คือ สร้างให้เกิดเป็นเมืองการบิน และการลงทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา  ก็จะเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์ ของกรุงเทพฯฝั่งตะวันออก ที่จะมีการเข้าถึงที่สะดวกสบายไม่แพ้สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง ทำให้การจราจรทางอากาศในภาคตะวันออกมีการขยายตัวได้ดีขึ้น 

เมืองการบินอู่ตะเภา “หมอเสริฐ”ลั่นไม่ยาก

อีกทั้งการพัฒนาโครงการนี้ คิดว่าจะทำงานได้สะดวกขึ้น เพราะเป็นการทำงานตามนโยบายของรัฐบาล  ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรือ และเป็นการทำงานร่วมกับภาครัฐ รวมทั้งเป็นการลงทุนในพื้นที่ว่างเปล่ าซึ่งเป็นที่ของกองทัพเรือ ไม่ได้ไปเวรคืนที่ดินจากใคร  การพัฒนาโครงการจึงไม่ยากหากเทียบกับการลงทุนของบางกอกแอร์ที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งเกิดอุปสรรคมากมาย ที่ก็ต้องต่อสู้กับกฏเกณฑ์ต่างๆในอดีตที่รัฐบาลกติกาขึ้นมาคุมมากมาย  ตั้งแต่การจัดตั้งบางกอกแอร์เวย์ เป็นสายการบินเอกชนแห่งแรกของไทยในปี2511 การสร้างสนามบินสมุยในปี2512 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

“การเสนอจ่ายผลตอบแทนให้รัฐในโครงการนี้ 305,555 ล้านบาท คนประมูลที่เสนอราคาถูกที่บอก เราไม่สามารถทำได้ เป็นเพราะไม่เคยทำสนามบิน แต่เรามีประสบการณ์ในการทำสายการบินและพัฒนาสนามบินหลายแห่ง และยืนยันว่าผลตอบแทนที่เสนอไปสามารถทำได้แน่นอน และแม้ในขณะนี้จะเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ไม่ได้เป็นปัญหาหรือไม่ต้องปรับแผนลงทุนใดๆ เพราะกว่าสนามบินจะเปิดให้บริการก็หลัง 3 ปีไปแล้ว ปัญหาโควิดก็คงหายไปแล้ว” นายแพทย์ปราเสริฐ กล่าวทิ้งท้าย

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด เผยว่า เบื้องต้นบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด มีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท แต่เมื่อสนามบินอู่ตะเภาเฟส 1 เปิดดำเนินการในปี2567 ก็จะเพิ่มเป็น 9 พันล้านบาท ซึ่งการก่อสร้างจะเริ่มได้ในอีก 1 ปีครึ่ง ขณะที่แหล่งเงินในการลงทุนเบื้องต้น ในส่วนของเงินกู้จะใช้เงินกู้จากธนาคารกสิกรไทย และเมื่อมีการขยายลงทุนเพิ่มขึ้นในเฟสต่างๆก็จะใช้เป็น Syndicate loan เพื่อปล่อยกู้ร่วมของธนาคารพาณิชย์

เมืองการบินอู่ตะเภา “หมอเสริฐ”ลั่นไม่ยาก

การลงทุนที่จะเกิดขึ้นในเฟสแรก คาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนภายใน 10 ปี  ปัจจุบันสนามบินอู่ตะเภามีผู้โดยสาร 2-3 ล้านคนต่อปี และกว่าสนามบินจะเปิดในอีก4ปีครึ่ง ก็มองว่าถึงตอนเปิดจะมีผู้โดยสาร5-6 ล้านคน และคาดว่าในช่วง 10 ปี จะมีผู้โดยสารเพิ่มเป็น 15.9 ล้านคนหรือภายในปี77 โดยการลงตามแผนลงทุนเรามองว่าในทุก 10 ปีจะลงทุนขยายแต่ละเฟส ซึ่งใน 4 เฟส จะใช้เวลาพัฒนารวมทั้งหมด 40 ปี 

เมืองการบินอู่ตะเภา “หมอเสริฐ”ลั่นไม่ยาก

เฟสที่1 สร้างอาคารผู้โดยสารพืนที่1.57 แสนตรม. กิจกรรมเชิงพาณิชย์ หลุมจอดอากาศยาน 60 หลุมจอดแล้วเสร็จประมาณปี67 รับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี เฟส 2 อาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 1.07 แสนตรม.พร้อมทั้งติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) และระบบทางเดินเลื่อน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก16 หลุมจอด คาดแล้วเสร็จปี73 รับผู้โดยสารได้สูงสุด 30 ล้านคนต่อปี

เฟส3 เป็นการต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมจากเฟส2 กว่า 1.07 แสนตรม. เพิ่มจำนวนรถขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) อีก 1 ขบวน เพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 34 หลุมจอด คาดแล้วเสร็จปี85 รับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคนต่อปี  เฟส 4 มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่สองเพิ่มขึ้นกว่า 8.2 หมื่นตรม. พร้อมทั้งติดตั้งระบบ Check-in แบบอัตโนมัติ เพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 14 หลุมจอด คาดว่าแล้วเสร็จปี98 รับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี

เมืองการบินอู่ตะเภา “หมอเสริฐ”ลั่นไม่ยาก

   ส่วนการว่าจ้าง Narita International Airport Corporation มาบริหารสนามบินอู่ตะเภา เบื้องต้นเจรจาไว้ที่ 10 ปี  ซึ่งทางสนามบินนาริตะ จะเข้าร่วมในเรื่องของการออกแบบที่จะทำให้เกิดการไหลเวียนดภายในอาคารผู้โดยสาร และที่เราเลือกนาริตะ สำหรับในทีโออาร์ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชนะประมูลสามารถดึงบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เข้ามาร่วมลงทุนได้นั้น ตอนนี้ยังไม่ข้อสรุปในเรื่องนี้ เพราะก็คงต้องหารือกันก่อน เพราะต่อไปแล้วเราก็ทำงานร่วมกับทอท.อยู่แล้ว เนื่องจากอู่ตะเภาเป็นสนามบินเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯและทอท.ก็บริหารสนามบินสุวรรณภูมิกับดอนเมืองอยู่ ก็จะต้องมีการหารือถึงการกระจายผู้โดยสารระหว่างกัน 

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS กล่าวว่า งบประมาณการลงทุนระยะที่ 1 อยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท ส่วนงบประมาณลงทุนรวมทั้งโครงการอยู่ที่กว่า 2 แสนล้านบาท การลงทุนจะแบ่งเป็นส่วนทุน 1 ส่วน และเงินกู้จากสถาบันทางการเงินอีก 3 ส่วน      

“หลังจากลงนามครั้งนี้ เราจะใช้เวลาในการวางมาสเตอร์แพลนในช่วง 1 ปีครึ่ง เพราะยังไม่ได้เริ่มงานก่อสร้าง โดยแผนธุรกิจเชิงพาณิชย์ ศูนย์การค้าเป็นส่วนสำคัญที่เห็นว่าควรจะมีในเฟสแรก เช่นเดียวกับธุรกิจดิวตี้ฟรี ซึ่งจะต้องหารือร่วมกับ BA ด้วยว่าจะดำเนินการเอง หรือเปิดประมูล เรื่องนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจ”      

ในส่วนของบีทีเอส มีแผนดึง บริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสื่อและโฆษณาในพื้นที่เมืองการบิน เช่นเดียวกับบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ที่บีทีเอสถือหุ้น ก็จะนำเข้ามาทำธุรกิจศูนย์ขนส่งสินค้า (คาร์โก้) อีกทั้งบีทีเอสยังมองโอกาสร่วมประมูลโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ระยะที่ 2 ที่รัฐบาลเตรียมเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน โดยจะหารือร่วมกับพันธมิตรกลุ่มบีบีเอสอีกครั้ง   เมืองการบินอู่ตะเภา “หมอเสริฐ”ลั่นไม่ยาก    

“ก่อนหน้านี้ยอมรับว่าหนักใจ เมื่อโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม3สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) มีเอกชนผู้ลงทุนคนละราย เนื่องจากเป็นโครงการที่ต้องประสานกันและมีจุดเชื่อมต่อส่งต่อผู้โดยสารซึ่งกันและกัน แต่ขณะนี้ได้มีการเจรจาในรายละเอียดถึงขั้นตอนการทำงาน ประกอบกับ กพอ.ได้สร้างความเชื่อมั่นในการจัดตั้งคณะทำงานระหว่าง 2 โครงการ พร้อมยืนยันว่าไฮสปีดเทรนจะไม่ล่าช้า ทำให้ขณะนี้ไม่หนักใจแล้ว”นายสุรพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,585 วันที่ 21 - 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563