ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่าย 3.3 ล้านล้านบาท และประมาณการรายได้ 2.677 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณขาดดุล 6.23 แสนล้านบาท เป็นการขาดดุลต่อเนื่องปีที่ 15 นับจากปี 2550 และเป็นการจัดทำภายใต้ประมาณการเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวลดลงในช่วง ติดลบ 5-6% จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และจะฟื้นตัวเป็นบวกที่ 4-5% ได้ในปี 2564 จากฐานที่ตํ่าและสถานการณ์ที่คลี่คลายลงของโควิด-19
ขณะเดียวกันวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลได้เตรียมความพร้อม ด้วยการตัดลดงบในส่วนที่เป็นรายจ่ายไม่มีข้อผูกพัน งบสัมมนา และงบอบรม ที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงบประมาณ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีรวม 40,325.6 ล้านบาท มาตั้งเพิ่มในงบกลาง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19และเมื่อรวมกับเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นอีก 99,000 ล้านบาท จะทำให้รัฐบาลมีวงเงินงบประมาณ เพื่อรองรับเหตุการฉุกเฉินรวม 139,325.6 ล้านบาท
การ์ดอย่าตก
อย่างไรก็ตาม จากมาตรการ Lockdown เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักลง กระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2563 จะหดตัวถึง 8.1% รุนแรงกว่า ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 จากเดิมที่คาดว่า จะหดตัว 5.3% ขณะที่ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยาคาดว่าจะหดตัว 10.3% และธนาคาร กรุงเทพคาดว่า จะหดตัว 9.7% ท่ามกลางการกลับมาระบาดอีกระลอกของประเทศต่างๆ
ดังนั้นสิ่งที่ต้องระวังหลังการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ระยะที่ 5 คือ จะปล่อยให้การ์ด(guard)ตกไม่ได้เด็ดขาด เพราะถ้าเกิดการระบาดอีกระลอก เครื่องมือทางการเงิน การคลังและงบประมาณจะมีข้อจำกัดและใช้ลำบากมากขึ้น
แนะปรับโครงสร้างงบ
นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดเปิดเผยว่า รัฐบาลจะต้องมีปรับโครงสร้างงบประมาณใหม่ เพราะโครงสร้างปัจจุบัน ไม่สามารถแก้ปัญหาขนาดใหญ่มากๆได้ ซึ่งอาจไม่ทันในปี 2564 แต่มีประเด็นต่อคือ ให้คนมีงานทำ ซึ่งแต่รัฐบาลได้เผื่อไว้แล้วจากที่มีงบกลาง 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้อาจจะเพียงพอในสถานการณ์หนึ่ง ขึ้นกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ถ้ารุนแรงมาก ต้องใช้เงินประคองปัญหา ก็ยังมีกลไกอื่นรองรับ”
ทั้งนี้โครงสร้างงบปัจจุบันไม่ได้เป็นความผิดของรัฐบาลหรือใครในการออกแบบ เพราะงบมาจากความจำเป็นของหน่วยงานต่างๆ และเราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และที่ยากคือ ไม่สามารถคาดการณ์ผลที่อยู่ข้างหน้าว่า จะเป็นอย่างไรและยาวนานแค่ไหน ถ้ากรณีที่ไม่รุนแรงมาก งบกลาง 9 หมื่นล้านบาท ก็น่าจะพอและยังมีงบฟื้นฟูเศรษฐกิจอีก 4 แสนล้านบาท ที่ยังมีเหลือบางส่วนหรือที่จัดสรรไปแล้ว อาจจะแก้ปัญหาในสิ่งที่เรากังวลไปแล้ว เช่น เรื่องการจ้างงาน
“ถ้าเศรษฐกิจไทยไปถึงจุดที่แย่กว่านี้ อาจต้องใช้ทรัพยากรทางการคลังมากกว่านี้ เช่น ต้องช่วยคนที่อยู่ในธุรกิจเอสเอ็มอี 12-13 ล้านคนให้ได้ครึ่งหนึ่ง ให้มีเงินใช้ไป 6 เดือน งบกลางที่มี 9 หมื่นล้านบาทก็อาจจะไม่พอ แต่เชื่อว่า ในที่สุด กระทรวงการคลัง น่าจะมีช่องทางที่จะจัดการได้ เพราะโดยกฎหมายสามารถออกงบประมาณกลางปีได้ หรือจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่ม สภาพคล่องในระบบก็มีพอ รัฐบาลเข้าใจสถานการณ์และรู้หน้าตักและโจทก์ที่ต้องเผชิญ”
หนุนสภาพคล่องSMEs
นายสมประวิณ มันประเสริฐผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด(หมาชน)เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกรุงศรีฯ ได้ปรับประมาณการจีดีพีไทยล่าสุดจะติดลบถึง 10.3% แต่ลึกแค่ไหนไม่สำคัญเท่ากับว่าจะยาวแค่ไหน เพราะวิกฤติปี 2540 เศรษฐกิจไทยลงลึกมา แต่ก็พื้นตัวได้เร็วจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น แต่รอบนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจน่าจะยาว เป็นตัวแอล ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ สายป่านต้องยาว การกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ ไม่ใช่การตอบโจทย์ แต่การเข้าถึงสภาพคล่อง เพื่อต่อลมหายใจเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยจะถูกกระทบมากกว่าที่อื่นทั้งจากนโยบายและการไม่กระจายตัว
“สิ่งสำคัญคือการเตรียมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ เพราะจากข้อมูลของเอสเอ็มอีในระบบพบว่า บริษัทไทยต้องการสภาพคล่อง เพื่อรักษาธุรกิจไว้ จะต้องใช้เงินถึง 1.7 ล้านล้านบาท เพราะมีถึง 9 หมื่นบริษัทที่มีปัญหา และหากปล่อยไว้จะกระทบต่อศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจระระยาว สุดท้ายแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะไม่กลับมาเหมือนเดิม”
เร่งผลักงบลงทุน
ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้รับจัดสรรงบปี 2564 ทั้งสิ้น 231,924 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34,775 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17.64% แบ่งเป็นหน่วยงานส่วนราชการ 193,554 ล้านบาท และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 38,370ล้านบาท แยกเป็น งบทางบก 186,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% ทางราง 33,603 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% ทางนํ้า 4,867 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% และทางอากาศ 6,120 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% งานนโยบาย 973 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม 638ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% และสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร 335 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12%
ทั้งนี้หน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบ 5 อันดับแรกคือ กรมทางหลวง 128,577 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% รองลงมากรมทางหลวงชนบท 49,465 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 18,108 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 15,367 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% และกรมท่าอากาศยาน 5,799 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8%
“โครงการที่เร่งผลักดันในปีงบ64 มี 2 โครงการคือ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่ต้องดำเนินการให้เสร็จในปี 2568 และมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ให้เสร็จในปี 2566 เพราะเป็นงบผูกพันต่อเนื่อง ต้องดำเนินการให้เสร็จในปี 2568 ส่วนรายการใหม่เป็นการใช้งบปกติ และเชื่อว่า จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น”
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,589 วันที่ 5 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2563