เรื่องนี้ นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วอียูเริ่มเรียกร้องและออกกฎว่าให้ไข่ที่ขายในตลาดนั้นผลิตจากไก่ที่ปล่อยให้เลี้ยงตามธรรมชาติ (Free Ranch Chicken)หรือไม่ขังในกรง ทางผู้เลี้ยงไก่ในอียูหรือผู้ที่ส่งออกไข่ไปยังสหภาพยุโรป (อียู) ก็คงต้องปฏิบัติตามนั้น นี่คือมาตรการหนึ่งที่อียูเริ่มเชื่อมโยงการ "ผลิตสินค้าเกษตร" กับ "สวัสดิภาพสัตว์"
ในช่วงใกล้ๆเดียวกันนี้อียูก็เรียกร้องให้ผลิตภัณฑ์ไก่ที่ส่งไปขายในอียูต้องได้รับการดูแลสวัสดิภาพ (Animal Welfare) เช่นต้องไม่ถูกทรมานซึ่งหมายรวมถึงจำนวนในเล้าและระหว่างขนส่งไปยังโรงเชือด ก่อนฆ่าก็ต้องไม่ทำให้สัตว์ทรมานหรือบาดเจ็บก่อนตาย เมื่อเริ่มปรากฎการณ์นี้กลุ่มธุรกิจปศุสัตว์ต่างสงสัยว่าเรื่องทำนองนี้เกี่ยวอะไรกับธุรกิจส่งออกเนื้อไก่? ไม่ว่าจะสงสัยหรือไม่พอใจหรือ ฯลฯ ทุกบริษัทต่างก็ต้องกุลีกุจอปรับตัวกันยกใหญ่เพราะทุกคนยังเชื่อในแนวคิด “Buyer is King”
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้การส่งออกกุ้งเลี้ยงของเราก็ประสบปัญหาสารตกค้างเกินมาตรฐานอียูอีก ครับ มาตรฐานอียูกำหนดให้สารตกค้างบางชนิดในตัวกุ้งเป็นศูนย์ ก่อนหน้านี้สารตกค้างในกุ้งของไทยอยู่ในระดับต่ำ(แต่เกินศูนย์)แต่ก็ยังผ่านเข้าอียูได้
เหตุผล? การที่กุ้งยังไม่ถูกอียูปฏิเสธนำเข้าก็เพียงเพราะ “เครื่องมือ” ที่ตรวจสารตกค้างมีประสิทธิภาพตรวจละเอียดที่สุดคือได้ผลต่ำสุดที่ 0.4 เห็นอันตรายไหม? และอันตรายของใคร?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
8ก.ค.ถกปม "อังกฤษแบนกะทิ" เตรียมพาทูตไปดูลิงโชว์เก็บมะพร้าว
คำตอบคือธุรกิจส่งออกกุ้งของไทยไปอียู “สอบตก” มาตลอดเวลาเพียงแต่โชคดีที่ว่าก่อนหน้านี้เครื่องมือตรวจสารตกค้างมีความสามารถยัง “ไม่ถึง” เกณฑ์ และโชคร้ายก็ปรากฎขึ้นเมื่ออียูพัฒนาเครื่องตรวจจนสามารถตรวจสารตกค้างได้ตัวเลขต่ำกว่า 0.4 ทันทีที่เครื่องตรวจใหม่แสดงผลสินค้าของไทยก็ถูกปฏิเสธนำเข้าทันที
นายพรศิลป์ กล่าวอีกว่า คงนึกภาพออกว่าธุรกิจนี้ปั่นป่วนเพียงใด และก็เป็นที่แน่นอนว่าเราระดมกัน "ต่อว่า" อียูกันยกใหญ่ คำว่าการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB)ดังกระหึ่ม แน่นอน พวกเราไม่พอใจอียูอย่างยิ่ง ด่าก็ด่ากันไปแต่ธุรกิจก็ต้องปรับตัวเพราะเราจะรอให้อียูประดิษฐ์เครื่องมือใหม่อีกรอบไม่ได้แน่นอน เป้าหมายของเราคือต้องให้มีสารตกค้างเป็นศูนย์ส่วนประสิทธิภาพของเครื่องเป็นต้องเป็นข้อยกเว้น นอกจากเราต้องปรับเรื่องกระบวนการผลิตแล้วเรายังต้องลงทุนซื้อเครื่องมือตรวจจากอียูพร้อมๆกับฝึกเจ้าหน้าที่ของเราเพื่อการตรวจสินค้าก่อนส่งออกอีกด้วย
จากเหตุการณ์ที่เล่ามานั้นก็สรุปได้ว่า 1. การเรียนรู้กฎของตลาดต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 2. การปรับตัวล่วงหน้าเป็นสิ่งที่ต้องทำทั้งห่วงโซ่การผลิต คือต้องเริ่มตั้งแต่ผู้ผลิตคนแรกจนถึงคนสุดท้าย เช่นกรณีสารตกค้างนั้นเกิดขึ้นที่กุ้งแต่เมื่อสินค้ามีปัญหาจะกระทบผู้ประกอบการทุกรายตลอดห่วงโซ่
ในมุมกลับของตัวอย่าง "กุ้ง" ขณะนี้เรากำลังมีเรื่องสารตกค้างในอาหารที่ต้องไม่พบสาร "พาราควอต" และ "คลอร์ไพริฟอส" ซึ่งกำลังสร้างปัญหาให้กับการนำเข้าสินค้าอาหาร หากรัฐบาลไทยปฏิบัติเหมือนกับที่อียูได้กระทำกับเราแล้วจะเกิดผลกระทบอย่างไรระหว่างอาหารนำเข้าและอาหารที่ผลิตในประเทศ? ที่สำคัญคือเรามีเครื่องตรวจสารที่ละเอียดได้เท่ากับศูนย์ไหม?
และล่าสุดเราได้รับข่าวว่าเอกชนซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ เช่น กลุ่มค้าปลีกในอังกฤษกำลังจะห้ามนำเข้ากะทิจากมะพร้าวที่ใช้ "ลิงเก็บผลมะพร้าว" เพราะเห็นว่าเป็นการทรมานสัตว์ (สวัสดิภาพสัตว์) หากใครมีคำถามว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไรแล้วผมก็เสนอให้กลับไปอ่านเรื่องไข่ไก่ เนื้อไก่ ที่เล่าข้างต้น แต่ที่แน่ๆ คือขอให้อย่าไปเถียงกันหรือชวนอังกฤษทะเลาะเพราะมันจะไม่ทำให้เราเก่งขึ้นแต่ที่แน่ๆคือ “แพ้”
หมายเหตุ 1: ในกรณีกุ้งนั้นจะสังเกตได้ว่าความปลอดภัยอาหารนั้นอาจจะ “ยืดหยุ่น” ได้ตามความสามารถของ “เครื่อง” ไม่น่าเป็นไปได้ แล้วกรณีสารพิษพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสนี้จะเกิดขึ้นเหมือนกันไหม? น่าสนใจมาก
หมายเหตุ 2: ขณะนี้บริษัทค้าปลีกรายหนึ่งในอังกฤษได้วางระเบียบนำเข้าสัตว์ปีกแล้วว่าผู้ผลิตจะต้องพิสูจน์แหล่งวัตถุดิบของถั่วเหลืองว่ากระบวนการผลิตต้องไม่ทำลายป่า จะทำอย่างไรดี?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เป็นเรื่อง “ลิงเก็บมะพร้าว”ทั่วโลกเล็งแบนกะทิไทย
ไทยแจงโลก “ลิงเก็บมะพร้าว” แค่แสดงโชว์
เอ็นจีโอเปิดรับฟังความคิดเห็น “ลิงเก็บมะพร้าว”
8ก.ค.ถกปม "อังกฤษแบนกะทิ" เตรียมพาทูตไปดูลิงโชว์เก็บมะพร้าว