‘BEM-BTS’ ชิงเค้ก "รถไฟฟ้า สายสีส้ม" 1.4 แสนล.

13 ก.ค. 2563 | 00:20 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ค. 2563 | 01:45 น.

เปิดขายซองสายสีส้ม 1.4 แสนล้าน วันแรก คึก คู่ชก-พาร์ตเนอร์แห่ซื้อวันแรก 4 ราย BTS -BTSC -ซิโนทัย BEM รฟม.ลั่น 10-24 ก.ค. คาดเอกชนซื้อกว่า 10 ราย เปิดช่องทุนข้ามชาติลุยด้วย ใครให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุดได้ไป สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างฯฟันธง กลุ่มใหญ่ไม่เกิน 4 ราย

โครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือพีพีพี รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรีระยะทาง 35.9 กิโลเมตร มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท ได้ แบ่งเงื่อนไขดำเนินการไว้ 2 ช่วง ได้แก่ งานโยธา สายสีส้มตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์) มูลค่า 1.1 แสนล้านบาท และงานระบบเดินรถทั้งเส้นทางสายสีส้ม กว่า 3 หมื่นล้านบาท ล่าสุดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดขายซอง ระหว่างวันที่ 10-24 ก.ค. ทั้งนี้แค่วันแรกบรรยากาศเริ่มมีสีสัน ส่วนใหญ่เป็นคู่ชกคาดเชือกแทบทั้งสิ้นที่เดินทางมาซื้อซอง

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังเปิดขายซองประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม วันแรก ( 10 กรกฎาคม 2563) พบว่า มีเอกชนจำนวน 4 รายเดินทางมาติดต่อซื้อซองประมูลสายสีส้ม แล้ว ได้แก่ 1. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM  2. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือBTSC
3. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือBTS 4. บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

 

“ส่วนเอกชนที่น่าจับตามองในการประมูลโครงการฯ ครั้งนี้ มี 2 รายที่ได้มาซื้อซองไว้แล้ว ขณะเดียวกันการประมูลในครั้งนี้ทั้ง 2 กลุ่มมีสิทธิที่จะได้สัมปทานสายสีส้มกันทั้งคู่ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเอกชนรายใดที่จะเป็นผู้เสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐสูงสุดก็จะเป็นผู้ชนะการประมูลสายสีส้ม ส่วนจะมีเอกชนรายอื่นๆสนใจซื้อซองการประมูลสายสีส้มหรือไม่ มองว่าเราเปิดกว้างในโครงการนี้ และหวังว่าจะมีเอกชนรายอื่นๆ ให้ความสนใจเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเราก็หวังว่าจะมีเอกชนจากต่างประเทศให้ความสนใจด้วยเช่นกัน”

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็มระบุมีความพร้อมซึ่งได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ ว่าจะประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยบริษัทแม่ ช.การช่างมีประสบการณ์ด้านงานอุโมงค์ใต้ดินมาอย่างยาวนาน และเป็นพาร์ตเนอร์ ลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินกับกลุ่มซีพี ซึ่งเป็นประสบการณ์ใหม่ของบริษัท

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส กล่าวว่า บีทีเอสมีการเตรียมความพร้อมแล้ว และซื้อซองประมูลโครงการสายสีส้มในวันแรก เนื่องจากศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโครงการฯ มาโดยตลอด โดยครั้งนี้จะดึงพันธมิตรร่วมลงทุนเพื่อประมูลโครงการฯ อย่าง บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ด้วย

“เรามองว่าจุดแข็งของเราจะเห็นได้จากการชนะการประมูลหลายโครงการที่ผ่านมา เช่น โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก หากเอกชนรายใดเสนอผลตอบแทนให้รัฐให้สูงที่สุดก็ชนะ เพราะตามปกติแล้วการเปิดประมูลจะพิจารณาเกี่ยวกับราคาเป็นหลัก อยู่แล้ว ขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้กังวล หาก BEM จะเข้าร่วมประมูล ถึงแม้เขาจะมีประสบการณ์ด้านการทำอุโมงค์ใต้ดินในโครงการอื่นๆที่ผ่านมา แต่อย่าลืมว่าเราเองก็มีประสบการณ์ด้านนี้มายาวนานเกิน 20 ปี ไม่ว่าจะเป็นการโครงการที่ดำเนินการในลักษณะบนดินหรือใต้ดิน เราก็สามารถดำเนินการได้ไม่มีปัญหา”

นายอังสุรัศมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าว เอกชนที่ซื้อซองประมูล ต้องมีความเชี่ียวชาญการเดินรถ คาดว่ามีเอกชนให้ความสนใจซื้อซองประกวดราคาราว 3-4 กลุ่ม อาทิ กลุ่ม BTS และ BEM ฯลฯ ทั้งนี้อาจจะมีกลุ่มอื่นๆ ที่ให้ความสนใจด้วยเช่นกัน

“แม้สายสีส้มดำเนินการก่อสร้างในลักษณะอุโมงค์ใต้ดินไม่ใช่ประเด็น แต่เรามองที่เอกชนรายใดสามารถให้ผลตอบแทนแก่รัฐได้สูงสุดมากกว่า เพราะบริษัทที่ดำเนินการด้านการก่อสร้างในลักษณะอุโมงค์ใต้ดิน หรือทางยกระดับ ก็มีกลุ่มนี้ดำเนินการกันอยู่แล้ว”

หน้า 11 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,591 วันที่ 12 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563