“คมนาคม”  เร่งศึกษากฎหมาย “อู่เรือยูนิไทย” เหตุผิดสัญญา

19 ก.ค. 2563 | 11:00 น.

“คมนาคม”  เตรียมศึกษาแนวทางข้อกฎหมายพื้นที่อู่เรือท่าเรือแหลมฉบังของบริษัทยูนิไทย  หลังทำผิดสัญญา หากไม่ต่อสัญญาสิ้นปี เตรียมผุดแนวทางทำพื้นที่เชิงพาณิชย์ พร้อมชงบอร์ด กทท.สิ้นเดือน ก.ค. 63

 

 

 

พื้นที่อู่ต่อเรือ บริษัท ยูนิไทยชิปยาร์ด แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด  ท่าเรือแหลมฉบัง กำลังจะหมดอายุสัญญาภายในปีนี้ และ มีกระแสว่า บริษัทยูนิไทยฯ อยู่ระหว่างเดินหน้าขอต่อสัญญาออกไปอีก จากที่เช่ามาแล้ว 30 ปี  ส่งผลให้คณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศ (บอร์ดกทท.) ไม่กล้าตัดสินใจ โดยโยนให้รัฐมนตรี ที่กำกับดูแล ตัดสิน   ว่าจะมีทางออกอย่างไร ระหว่าง ต่อสัญญา หรือ นำพื้นที่ราว 200-300 ไร่เปิดประมูล  ให้เอกชนเช่าพื้นที่
นายอธิรัฐ   รัตนเศรษฐ   รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม  เปิดเผยถึงสัญญาเช่าพื้นที่เพื่อดำเนินการโครงการอู่เรือบริเวณท่าเรือแหลมฉบังระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และบริษัท ยูนิไทย ชิปยาร์ด เอนจิเนียริ่ง จำกัด (UNITHAI) ว่า สำหรับเช่าพื้นที่ดังกล่าวที่ใกล้จะหมดสัญญาในวันที่17ธันวาคม 2563 นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาข้อกฎหมายเพื่อหาแนวทางดำเนินการ เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทยูนิไทยได้ทำผิดสัญญาบางประเด็น รวมถึงทางผู้ประกอบการของบริษัทขอต่อสัญญาดังกล่าวออกไปอีก  ทั้งนี้จะต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบและชัดเจนว่าสามารถต่อสัญญาได้หรือไม่   โดยจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (บอร์ด กทท.) พิจารณาเร็วๆนี้ คาดว่าจะได้แนวทางสำหรับสัญญาดังกล่าวภายในสิ้นเดือนนี้
“ตอนนี้เรายังตอบไม่ได้ว่าทางบริษัทจะต่อสัญญาออกไปอีกเท่าไร เพราะเราต้องดูทิศทางของบอร์ด กทท.พิจารณาว่าเป็นอย่างไร ควรเดินหน้าไปในแนวทางไหน  หากมีการศึกษารายละเอียดข้อกฎหมายแล้ว ส่วนแนวโน้มที่จะต่อสัญญาหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ เราต้องดูรายละเอียดตามข้อกฎหมายก่อน  ทั้งนี้การต่อสัญญาหรือไม่ต่อสัญญาไม่ได้มีผลกระทบอะไร  ถ้าสามารถต่อสัญญาได้ก็ต่อสัญญา แต่ถ้าต่อสัญญาไม่ได้ก็ไม่ต่อสัญญา  ส่วนกรณีที่ไม่ต่อสัญญาจะนำพื้นที่ไปทำอะไรบ้าง ขณะนี้ยังไม่ได้ศึกษา ซึ่งก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง หากต้องเลือกเดินหน้าแนวทางนี้จะสามารถดำเนินการได้อย่างไร ซึ่งจะต้องคุยรายละเอียดกันอีกทีว่าจะทำอย่างไรต่อไป แต่ตอนนี้อยู่เพียงแค่ขั้นตอนแรกเท่านั้น” “คมนาคม”  เร่งศึกษากฎหมาย “อู่เรือยูนิไทย” เหตุผิดสัญญา

 

ขณะก่อนหน้านี้ คณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย(บอร์ดกทท.) สรุปประเด็นการพิจารณาดังนี้ 1. กรณีให้เช่าต่อไป จะทำอย่างไรกับการที่ยูนิไทย ผิดสัญญา มาตลอด 30 ปี หรือให้เช่าต่อ แล้วฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาก ยูนิไทย 2. อัตราค่าเช่า ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน เนื่องจากอัตราค่าเช่านี้เป็นอัตราเดิม ใช้มา 30 ปี แม้จะมีการปรับอัตราค่าเช่า ตามรัยะเวลาเช่นสัญญาทั่วๆไป แต่ก็ยังอยู่บนฐานอัตราเดิม 3. สิ่งก่อสร้างถาวร ทั้งหมดคงต้องตกเป็นของรัฐ การใช้ประโยชน์ผู้เช่ารายต่อไป ไม่ว่าจะเป็นรายเก่าหรือรายใหม่ ต้องเสียค่าเช่าสิ่งก่อสร้าง นอกเหนือจากค่าเช่าที่ดิน 4. การท่าเรือต้องการรักษาผลประโยชน์สูงสุด หากไม่มีการแข่งขันจากผู้สนใจอื่นๆ จะทราบได้อย่างไรว่าการท่าได้ประโยชน์สูงสุด เพราะทราบว่ามีรายอื่นๆ สนใจ โดยเฉพาะบริษัทก่อสร้าง รื้อถอนแท่นจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และอีกหลายราย เงื่อนไขพิจารณา  5. ด้วยสภาวะธุรกิจก่อสร้างและ สร้างแท่นของซียูอีแอล รวมถึงการสร้าง ซ่อมเรือ และธุรกิจรื้อถอนแท่นของยูนิไทย คงไม่อำนวยให้ยูนิไทย ลงทุนเป็นวงเงินกว่า 3- 5 พันล้าน เพื่อทำตามสัญญาที่ไม่ได้ทำมา 30 ปี ( ต้องสร้างอู่แห้ง และผนังกำแพงที่ติดกับทะเล ตลอดแนวพื้นที่ที่เช่า)
หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,592 วันที่ 16 - 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2563