นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการสัมมนารับฟังความเห็นเรื่อง แนวทางการจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ว่าผู้เข้าร่วมสัมมนาส่วนใหญ่สนับสนุนและเห็นความจำเป็นในการจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ เพื่อเยียวยาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) เนื่องจากปัจจุบันโครงการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเอฟทีเอ ทั้งของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังมีข้อจำกัด เช่น ในกรณีกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้อยู่ในรูปของกองทุน ขึ้นอยู่กับการได้รับงบประมาณรายปี ซึ่งบางปีอาจไม่ได้รับจัดสรร หรือได้รับการจัดสรรไม่เพียงพอ อีกทั้งมีขั้นตอนการอนุมัติที่ซับซ้อนและใช้เวลานาน รวมถึงการประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ยังไม่ทั่วถึง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงกองทุน เป็นต้น จึงควรปรับปรุงและพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบกองทุนเอฟทีเอ ที่มีความถาวรและมีกฎหมายรองรับ เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบ อาทิ เกษตรกร SME ผู้ประกอบการสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม และภาคบริการ สามารถขอใช้กองทุนได้
ทั้งนี้ ในวงเสวนามีข้อแนะนำที่น่าสนใจเช่น ควรให้ความสำคัญกับเป้าหมายและการประเมินผลการใช้กองทุนเพื่อให้สามารถช่วยเหลือเยียวยาและพัฒนาศักยภาพผู้รับให้สามารถแข่งขันได้จริง ควรให้ผู้ที่ได้ประโยชน์จากเอฟทีเอร่วมสมทบรายได้เข้ากองทุนด้วย ควรสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ที่ต้องการใช้เงินกองทุนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ภาครัฐควรทำงานเชิงรุกและควรมีองค์กรที่สามารถเชื่อมระหว่างหน่วยงานจัดสรรกองทุนกับผู้ขอใช้กองทุน
“กรมฯ ยังเตรียมจัดรับฟังความเห็นในรูปแบบกลุ่มย่อยกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอให้คณะทำงานพิจารณาแนวทางการพัฒนากองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ซึ่งแต่งตั้งโดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานต่อไป”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา การจัดทำเอฟทีเอมีทั้งผู้ที่มีศักยภาพแข่งขันได้ สามารถขยายการค้าและส่งออกไปต่างประเทศ แต่ ขณะเดียวกันยังมีผู้ไม่มีความพร้อมที่จะแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ที่ต้องการความช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ ประกอบกับปัจจุบันกลไกช่วยเหลือของไทยยังมีข้อจำกัด และยังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการ SME ได้ จึงเป็นที่มาของการหาแนวทางจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ