BTS ปิดดีล รถไฟฟ้าสายสีเขียว ยึด ม.44 ขยายสัญญาแลกหนี้แสนล้าน

03 ส.ค. 2563 | 02:30 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2563 | 09:47 น.

ลุ้นครม.ไฟเขียวขยายสัมปทาน รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว 3 ช่วงแลกหนี้ แสนล้าน 4 ส.ค.นี้ หลังรับทราบผลการศึกษา คมนาคม หัก กมธ.–ด้านสคร.ร่อนหนังสือ ยํ้า ม.44 ใช้แทนพีพีพีได้

กำลังเป็นที่จับตาถึงการขยายสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ที่เหลือระยะเวลาอีก 10 ปี โดยให้รายเดิมดำเนินการต่อไป 

 

ตามการใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ วันที่ 11 เมษายน 2562  (ม.44) ทดแทนกฎหมายว่าด้วยการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนในการพิจารณาให้ขยายระยะเวลาสัมปทานออกไปว่าจะถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากยังมีข้อขัดแย้งของหลายฝ่าย โดยเฉพาะคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่ได้ศึกษาในเรื่องนี้เสียส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการให้ขยายสัญญาสัมปทานออกไป แต่ควรจะทำสัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และที่ 2 ไปก่อน เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาสัมปทานในปี 2572 และ เปิดให้จัดหาผู้เดินรถไฟฟ้ารายใหม่ ตามขั้นตอนของพ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ในรูปแบบพีพีพีเป็นทางออกที่เหมาะสม

 

ระหว่างนี้กรุงเทพมหานคร ในฐานะคู่สัญญาอยู่ระหว่างขอความเห็นชอบในการขยายสัญญาสัมปทานเดินรถจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่าจะออกมาในรูปแบบใด ขณะที่ครม.เองต้องไปขอความเห็นจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องด้วยว่า หากยึดตามคำสั่งม.44 แล้ว จะมีข้อท้วงติงอย่างไร ล่าสุดหน่วยงานต่างๆ ได้เสนอความเห็นเข้ามาแล้ว และคาดว่าจะมีการพิจารณาของครม.วันที่ 4 สิงหาคมนี้

 

ครม.รับทราบผลศึกษา

ขณะที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องการพิจารณาศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (บีทีเอส) ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (บีทีเอส) สภาผู้แทนราษฎร ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบ โดยสรุปดังนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรณีรายงานผลการศึกษาการขยายสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบีทีเอสของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ในการขยายสัญญาร่วมทุนในเรื่องนี้ กรุงเทพมหานครได้ดำเนินงานตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ลงวันที่ 11 เมษายน ปี 2562 ซึ่งขอบเขตของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว

 

จะมีผลให้เอกชนต้องรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ แทนกรุงเทพมหานครในช่วงต้นโครงการ และกรุงเทพมหานครได้รับส่วนแบ่งจากค่าโดยสาร สถานีเชื่อมต่อการเดินทาง อัตราค่าโดยสารตามสัญญาร่วมทุนมีราคาน้อยกว่าหรือเท่ากับอัตราค่าโดยสารที่มีการจัดเก็บในปัจจุบัน และอัตราค่าโดยสารตลอดสายสูงสุด 65 บาท และรวมการปรับปรุงบริเวณสถานีตากสินไว้ด้วย ซึ่งจะทำให้สถานีสีลมมีค่าความถี่การให้บริการดีขึ้น

 

สำหรับต้นทุนภาระทางการเงิน 107,000ล้านบาท ในการสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น กรุงเทพมหานครจะนำเงินรายได้ของโครงการมาชำระค่างานโยธาดอกเบี้ย และภาระอื่น ๆ สำหรับส่วนต่อขยายที่ 2 จากการรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย


BTS ปิดดีล รถไฟฟ้าสายสีเขียว  ยึด ม.44 ขยายสัญญาแลกหนี้แสนล้าน

สคร.ยัน ใช้ม.44ไม่ผิด

ด้านนายประภาส คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สคร.ได้ทำหนังสื้อแสดงความคิดเห็นกรณีการขยายสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบีทีเอสตามคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เมื่อ 11 เมษายน 2562ไปยังสำนักงานเลขาคณะรัฐมนตรี(สลค.) เรียบร้อยแล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยให้ความเห็นว่า การดำเนินการของเอกชนภายใต้คำสั่งคสช.เมื่อดำเนินการแล้วให้ถือว่าแก้ไขร่วมลงทุน โดยให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลต่อไปภายใต้กฎหมายการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี)

 

ดังนั้นการขยายสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบีทีเอสในส่วนต่อขยายถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ทั้งดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคสช.จากนั้นให้อยู่ภายใต้คณะกรรมการกำกับดูแลภายใต้กฎหมายพีพีพีส่วนจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้เมื่อไหร่นั้น ขึ้นกับการพิจารณาของสลค.

กมธ. มองต่าง

ขณะเดียวกัน คมนาคม พบว่ากมธ.มีเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย จำนวน 19 คนเห็นด้วย 12 คน งดออกเสียง 6 คน ไม่ส่งความเห็น 1 คน และลาการประชุม 1 คน โดยเสียงส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับการขยายสัญญาสัมปทานในส่วนสายสีเขียว เนื่องจากมีความเห็นว่าสัญญาสัมปทานที่เหลือระยะเวลา 10 ปี ที่จะสิ้นสุดปี 2572 นั้น ควรทำสัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยายส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 ไปก่อน

 

หากสิ้นสุดสัญญาภายในปี 2572 ค่อยดำเนินการจัดหาผู้เดิน รถไฟฟ้ารายใหม่ที่สามารถปฏิบัติตามขั้นตอนพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ปี 2562 (พ.ร.บ.พีพีพี)ระยะสัญญา30 ปีโดยให้กรุงเทพ มหานคร (กทม.) เข้ามาดำเนินการรับผิดชอบ เพื่อให้ค่าโดยสารถูกสุดสำหรับประชาชนที่ใช้บริการพื้นที่ในกรุงเทพฯ รวมถึงการขยายสัมปทานอาจเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในส่วนของสายสีเขียว ทำให้ปัญหาสายสีอื่นๆยังคงอยู่ ซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหาแบบบูรณาการ ทั้งนี้การให้เอกชนทำพีพีพีแบบ Gross caost น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุดในกรณีนี้

 

กมธ.เสียงส่วนน้อยมีความเห็นให้ขยายสัญญาสัมปทานดังกล่าว เนื่องจากการใช้คำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติทดแทนกฎหมายว่าด้วยการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนในการพิจารณาให้ขยายระยะเวลาสัมปทานออกไปถูกต้องตามกฎหมายหากสามารถดำเนินการเสนอให้มีการต่อสัญญาสัมปทาน ทางกทม. ควรกำหนดกรอบการดำเนินการ เพื่อแก้ไขปัญหาภาระหนี้และค่าใช้จ่ายของกทม.ตลอดจนการเดินระบบรถและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการลดค่าโดยสารเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนทั้งด้านคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการ 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3597 วันที่ 2-5 สิงหาคม 2563