วิกฤติรอบ 60 ปี การ์เมนต์เผาจริง อนาคตนำเข้าแซงส่งออก

13 ส.ค. 2563 | 10:58 น.

อุตสาหกรรมการ์เมนต์วิกฤติรอบ 60 ปี พิษโควิดคาดปีนี้ส่งออกติดลบหนัก 25-30% จับตาอนาคตนำเข้าแซงส่งออก ทำขาดดุลการค้า

 

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (การ์เมนต์) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างชาติที่อยู่คู่กับคนไทยมานานกว่า 60 ปี  สร้างรายได้เข้าประเทศในปีที่ผ่านมารวมกว่า 2.9 แสนล้านบาท แต่วันนี้จากพิษโควิด-19 ซัดกระหนํ่า ทำอุตสาหกรรมระสํ่าหนัก ตลาดส่งออกหดตัวอย่างรุนแรง จากเศรษฐกิจและกำลังซื้อของตลาดส่งออกหลักทั้งสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (อียู) จีน ฮ่องกงหดหาย 6 เดือนแรกปีนี้ตัวเลขการส่งออกสิ่งทอและการ์เมนต์ของไทยยังติดลบตัวเลข 2 หลัก (กราฟิกประกอบ) เดือนที่เหลือยังน่าห่วงยิ่ง

 

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เผยว่า ตลาดส่งออกเครื่องนุ่งห่มซึ่งมีเสื้อผ้าสำเร็จรูปเป็นรายการหลัก ช่วง 6 เดือนแรกที่ยังติดลบ (14.7%)จากผลกระทบโควิด คู่ค้ายกเลิกออเดอร์หรือเลื่อนรับมอบสินค้า ส่งผลให้ผู้ประกอบการการ์เมนต์ในภาพรวมได้หันมาผลิตหน้ากากอนามัยที่ทำจากผ้าจำหน่ายในประเทศและส่งออก สถานการณ์ ณ ปัจจุบันหน้ากากอนามัยล้นตลาดในประเทศขายได้ลดลง ตลาดส่งออกเริ่มมีการแข่งขันสูงจากเวียดนาม จีน บังกลาเทศ อินโดนีเซีย เมียนมา กัมพูชา ออเดอร์มายังไทยลดลง เริ่มส่งออกไม่ได้แล้ว

 

ผลพวงจากนี้ไปจะเห็นโรงงาน การ์เมนต์ปิดตัวชั่วคราว หรือปิดถาวรมากขึ้น เพราะมีรายได้ลดลงหรือไม่มีรายได้เข้ามา ที่จะตายก่อนคือโรงงานขนาดเล็กประเภทห้องแถวที่มีจำนวนมากแถวบางบอน บางขุนเทียน จากส่วนใหญ่ใช้แรงงานต่างด้าวและกลับประเทศในช่วงโควิดระบาดยังไม่สามารถกลับมาได้ครบ และส่วนใหญ่เย็บหน้ากากอนามัยขายซึ่งจากสินค้าล้นตลาด ขายไม่ได้คาดจะมีเจ้าของกิจการปิดตัวและไปทำอาชีพอื่นเพิ่มขึ้น

 

ส่วนสมาชิกของสมาคมฯที่มีกว่า 290 ราย มีหลายรายเตรียมปิดกิจการแต่ยังไม่เป็นที่เปิดเผย มี 2-3 รายที่จะปิดกิจการมาขอให้ตนช่วยขายเครื่องจักรจากรุ่นลูกไม่มีใครสานต่อ และธุรกิจไปได้ไม่ดีเหมือนก่อน ขณะที่ส่วนใหญ่ที่ยังเปิดกิจการอยู่ได้ใช้วิธีลดการทำงาน เช่นจาก 6 วัน เหลือ 4-5 วันต่อสัปดาห์,การให้คนงานทำงานครึ่งเดือนหยุดครึ่งเดือน, ให้ยังคงมีสถานะเป็นลูกจ้างแต่ไม่ได้รับเงิน (Leave Without Pay) หรือถ้าไม่ได้ทำงานก็ไม่จ่ายเงิน(NO Work No Pay) ซึ่งส่วนใหญ่จะเลือกใช้ 4 วิธีนี้ 

 

วิกฤติรอบ 60 ปี การ์เมนต์เผาจริง อนาคตนำเข้าแซงส่งออก

 

รูปแบบที่ 2 คือการหยุดกิจการชั่วคราวและให้ลูกจ้างใช้สิทธิขอรับการชดเชยกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 จากสำนักงานประกันสังคมสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวันไม่เกิน 90 วัน (มีผลบังคับใช้ระหว่าง 1 มี.ค.-31 ส.ค.2563) ในเดือนนี้ที่จะสิ้นสุดโครงการ คาดจะเห็นโรงงานการ์เมนต์ปิดชั่วคราวและลูกจ้างมาขอใช้สิทธิ์กันมากขึ้น ซึ่งอยากให้รัฐบาลขยายโครงการนี้ให้สามารถใช้สิทธิ์ได้ถึงสิ้นปี เพื่อรอหวังจะมีคำสั่งซื้อใหม่เข้ามาในช่วงเดือนพฤศจิกายน เพื่อนำไปจำหน่ายในช่วงเทศกาลปลายปี ในมุมมองเห็นว่าหากรายใดปิดโรงงานหรือหายไป 3 เดือนโอกาสจะกลับมาเปิดใหม่คงยาก เพราะ 1.ลูกค้าเดิมไม่มาแล้ว และ 2.คนงานไปทำงานที่อื่นหมดแล้ว

วิกฤติรอบ 60 ปี การ์เมนต์เผาจริง อนาคตนำเข้าแซงส่งออก

                       ยุทธนา  ศิลป์สรรค์วิชช์

 

นายยุทธนา สะท้อนภาพอีกว่า  จากที่ผู้ผลิตส่งออกรายใหญ่หลายบริษัทถูกแบรนด์ใหญ่ แบรนด์ดังจากต่างประเทศหยุดหรือเลื่อนส่งมอบ ไม่มีการออกคอลเล็กชั่นใหม่ ๆ คาดปีนี้การส่งออกการ์เมนต์ของไทยจะติดลบ 25-30% ถือเป็นการติดลบมากสุดและวิกฤติหนักสุดตั้งแต่มีอุตสาหกรรมนี้มากว่า 60 ปี โดยมูลค่าส่งออกจะหายไปกว่า 3 หมื่นล้านบาทในปีนี้ และคาดจะมีคนงานในอุตสาหกรรมที่จะตกงานและต้องเปลี่ยนอาชีพไม่ตํ่ากว่า 20% และกว่าอุตสาหกรรมจะกลับมาแข็งแรงเท่าเดิมอาจต้องใช้เวลาถึง 2 ปี ผลพวงจะส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนที่เกี่ยวเนื่อง เช่นโรงปั่นด้าย โรงทอผ้า โรงย้อม โรงตัด โรงพิมพ์ โรงถุง โรงซิบ โรงกระดุมที่จะมีรายได้ลดลง บางรายอาจต้องปิดตัว และเลิกจ้างคนงานตามไปด้วย 

 

 

จากข้อมูล ณ ปัจจุบันในกลุ่มประเทศอาเซียน เวียดนามมีการส่งออกการ์เมนต์มากกว่าไทย 4 เท่า กัมพูชามากกว่าไทย 2 เท่า และเมียนมาคาดจะแซงไทยใน 2-3 ปี หากผู้ประกอบกอบการไทยไม่เร่งปรับตัวผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมหรือ Innovation ใหม่ๆ  มีฟังก์ชั่นนอลใหม่ๆ การสร้างแบรนด์สินค้าใหม่ๆ ให้มีจำนวนมากขึ้นและมีความเข้มแข็งติดตลาดโลก สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ลดการรับจ้างผลิต(OEM) ลงรวมถึงหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเหมือนดังประเทศอื่น เช่นญี่ปุ่นที่รัฐบาลให้เงินสนับสนุนผู้ประกอบการออกไปทำตลาดต่างประเทศ ผลักดันการสร้างแบรนด์ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ผลักดันเรื่อง K-Fashion ควบคู่ K-POP ไต้หวันมีฟังก์ชั่นนอล และเทคนิคอลเท็กซ์ไทล์ใหญ่สุดในโลก ขณะที่รัฐบาลประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น เยอรมนี อังกฤษ อิตาลี ฝรั่งเศสก็ให้การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาสินค้าเสื้อผ้าที่มีนวัตกรรม(Innovation)ใหม่ ๆ เพื่อการแข่งขันระดับโลก

 

ทั้งนี้หากไทยยังคงกินบุญเก่า แข่งขันด้วยราคา รับจ้าง OEM โอกาสส่งออกสิ่งทอและการ์เมนต์ของไทยนับวันก็จะยิ่งลดน้อยถอยลง และโอกาสที่ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศผู้นำเข้าสิ่งทอและการ์เมนต์มากกว่าการส่งออกในอนาคต และขาดดุลการค้าในอุตสาหกรรมสิ่งทอและการ์เมนต์มีความเป็นไปได้สูงแน่นอน เพราะเวลานี้แบรนด์ดังข้ามชาติได้เข้ามาตีตลาดในประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆเห็นได้จากตัวเลขการส่งออกสิ่งทอและการ์เมนต์ไทยปีหนึ่งประมาณ 2.2 แสนล้านบาท แต่ปีที่แล้วนำเข้ามากว่า 1.7 แสนล้านบาท ขณะที่การส่งออกในแต่ละปีขยายตัว 1-5% แต่การนำเข้าขยายตัวปีละกว่า 20% มาเป็นสิบปีต่อเนื่อง

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 8 ฉบับที่ 3,599 วันที่ 9 - 12 สิงหาคม พ.ศ. 2563