โควิด-19 ที่พ่นพิษมาตั้งแต่ต้นปี จนถึง ณ เวลานี้ สถานการณ์ในไทยเริ่มคลี่คลายแล้ว แต่ในอีกหลายประเทศที่เป็นคู่ค้ายังอาการหนัก ทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชียอีกหลายประเทศ กระทบภาคการส่งออกของไทยช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ยังติดลบ 7.1% หลายสินค้าในหลายอุตสาหกรรมของไทยที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักต่างยังสะบักสะบอมไปตาม ๆ กัน
หนึ่งในนั้นคืออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม(การ์มนต์) ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่สำคัญของไทยที่นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ออกมายอมรับว่าวิกฤติครั้งนี้เป็นวิกฤติในรอบ 60 ปีของอุตสาหกรรมสิ่งทอและการ์เมนต์ของไทยเลยทีเดียว จากคู่ค้าได้ยกเลิกหรือชะลอคำสั่งซื้อออกไปอย่างไม่มีกำหนด คาดปีนี้การส่งออกเฉพาะในส่วนของการ์เมนต์จะติดลบไม่ต่ำกว่า 25-30% ขณะที่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาเกือบทุกโรงงานต่างหันมาผลิตหน้ากากอนามัยที่ทำจากผ้าขายในประเทศ รวมถึงส่งออกเพื่อสร้างรายได้ประคองธุรกิจให้อยู่รอด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ดีเวลานี้หน้ากากผ้าในประเทศเริ่มล้นตลาด และราคาตก ตลาดต่างประเทศมีคู่แข่งขันในตลาดเพิ่มขึ้นทั้งเวียดนาม จีน บังกลาเทศ อินโดนีเซีย เมียนมา กัมพูชา และอื่น ๆ ทำให้เวลานี้หน้ากากผ้าเริ่มส่งออกไม่ได้แล้ว จากคู่ค้าหันไปสั่งซื้อจากประเทศอื่นที่ราคาถูกกว่า ขณะที่ตลาดในประเทศมีสินค้าเสื้อผ้าแบรนด์ดังจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาดเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสื้อผ้ากีฬา ผลพวงตามมาคือหลายโรงงานเริ่มปรับลดเวลาการทำงานลง เริ่มปิดกิจการ(ชั่วคราว/ถาวร) และหลายรายเริ่มประกาศขายเครื่องจักร และโรงงานเพื่อไปทำธุรกิจอื่น
คำถามคือจากนี้โรงงานสิ่งทอและการ์เมนต์ของไทยที่มีตัวเลขขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการกว่า 3,200 โรงงาน คนงานและพนักงานที่เกี่ยวข้องกว่า 4 แสนคนจะมีหนทางอยู่รอดอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าในรายที่ไม่ปรับเปลี่ยนตัวเอง และยังคงรอออเดอร์(ที่ยังไม่รู้ว่าจะมีมาเมื่อไร) ต้องล้มหายตายจากจากสภาพคล่องที่หายใจรวยรินมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนในรายที่กล้าปรับเปลี่ยนตัวเองอาจจะยังยื้อและอยู่รอดได้ในระยะยาว
ทั้งนี้จากที่ “ฐานเศรษฐกิจ”ได้มีโอกาสสนทนากับนายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยถึงแนวทางอยู่รอดของผู้ประกอบการการ์เมนต์ในยุคโควิดในต่างประเทศที่ยังไม่นิ่ง และในยุคชีวิตวิถีใหม่(New Nromal) ที่ผู้คนต่างระมัดระวังการใช้ชีวิตให้มีความปลอดภัยมากขึ้นจะใช้วิกฤตินี้ให้เป็นโอกาสอย่างไร
ได้รับคำตอบที่น่าสนใจ ซึ่งสมาชิกของสมาคม และผู้ประกอบการการ์เมนต์โดยทั่วไปสามารถไปปรับใช้ได้ใน 6 เรื่องคือ 1. ถ้ารู้ตัวเองว่าโรงงานไปไม่รอดแน่ และไม่มีรุ่นลูกหรือทายาทมาสานต่อ หากต้องปิดก็ต้องกล้าปิดเพื่อเซฟตัวเองและหันไปทำอาชีพอื่น 2.หาสภาพคล่องหรือกระแสเงินสด(Cash Flow) ให้มากที่สุดเพื่อประคองธุรกิจหากต้องการยังอยู่ 3.หานวัตกรรม(Innovation) ใหม่ ๆ ในการผลิตและจำหน่ายสินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาดยุคใหม่ให้เร็วกว่าคนอื่น 4.ออกไปคุยกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมการ์เมนต์ หรือข้ามอุตสาหกรรม เพื่อให้เห็นภาพว่าเขาปรับตัวกันอย่างไร อย่าปิดกั้นตัวเอง 5.ผู้บริหารบริษัทควรออกไปคุยกับซัพพลายเออร์ของตัวเองว่าตอนนี้มีวัตถุดิบอะไรใหม่ ๆ ที่สามารถผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไปได้อย่างไรบ้าง 6.รักษาสถานภาพของพนักงานโดยฝึกทักษะ(Skill) ใหม่ ๆ เช่นไลฟ์สดขายสินค้าเพื่อเพิ่มยอดขายได้หรือไม่ เป็นต้น
ทั้ง 6 เรื่องนี้เชื่อว่าจะเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการการ์เมนต์เห็นภาพ และเร่งปรับตัวหากยังต้องการอยู่ในอาชีพนี้ในระยะยาว