ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ "โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่" ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 โดยขอใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) กรอบวงเงิน 9,805.707 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน กรกฎาคม 2563 - กันยายน 2564 นั้น
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า "โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่" มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการพัฒนาพื้นที่จุดเรียนรู้ในรูปแบบหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ และเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำสำหรับทำการเกษตร ตลอดจนพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำด้วยระบบและวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นการฟื้นฟูภาคการเกษตรภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมุ่งเน้นเกษตรกรที่มีความตั้งใจเอาใจใส่อย่างจริงจัง ต่อยอด เพิ่มรายได้ กำหนดเป้าหมายเกษตรกร 64,144 ราย (16 ราย/ตำบล) เป้าหมายการจ้างงานเกษตรกร 32,072 ราย (8 ราย/ตำบล) ครอบคลุมพื้นที่ 4,009 ตำบล 75 จังหวัด
ซึ่งภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พิจารณาเห็นชอบกรอบแนวทางการดำเนินโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ และการ "จ้างแรงงานเกษตรทฤษฎีใหม่ระดับตำบล" โดยกำหนดคุณสมบัติเกษตรกรและผู้รับจ้างงาน ดังต่อไปนี้
ทั้งนี้ คุณสมบัติเกษตรกร โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือเกษตรกรทั่วไป หรือ "ทายาทเกษตรกร" หรือ "แรงงานคืนถิ่น" หรือ "อาสาสมัครเกษตรกร" ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีอายุระหว่าง 18 – 60 ปี และมีสัญชาติไทย มีพื้นที่ที่ใช้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ต้องเป็นพื้นที่ที่เป็นผืนเดียวกันไม่น้อยกว่า 3 ไร่ และเป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องตามกฎหมาย โดยเอกสารสิทธิต้องเป็นของผู้สมัครหรือเป็นของทายาทของผู้สมัคร (บิดากับบุตร มารดากับบุตร สามีกับภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย) และผู้สมัครต้องมีที่พักอาศัยในพื้นที่ที่ใช้สมัครเข้าร่วมโครงการ เจ้าของเอกสารสิทธิ ต้องยินยอมให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อดำเนินโครงการฯ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 ปี โดยมีการลงลายมือชื่อหรือประทับลายนิ้วมือในหนังสือยินยอม สำหรับผู้สมัครและพื้นที่ที่ใช้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ต้องไม่อยู่ในโครงการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ (5 ประสาน) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ส่วนคุณสมบัติของผู้รับจ้างงาน โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ต้องเป็นเกษตรกรทั่วไป หรือทายาทเกษตรกร หรือแรงงานคืนถิ่น หรืออาสาสมัครเกษตรกรในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อายุระหว่าง 18 - 60 ปีบริบูรณ์ และมีสัญชาติไทย วุฒิการศึกษา ไม่ต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่า มีที่พักอาศัยอยู่ในตำบลที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ต้องมีอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ (smartphone) ฯลฯ
“ไม่เป็นข้าราชการประจำ หรือ ข้าราชการบำนาญ รวมทั้ง ข้าราชการการเมือง ลูกจ้างของกระทรวง กรมที่มีฐานะเทียบเท่าพนักงานส่วนท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น และไม่เป็นลูกจ้างเอกชน ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง ต้องไม่เป็นเกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรมปรับปรุงแปลงตาม โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคติดต่อร้ายแรง”
ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ สามารถตรวจสอบคุณสมบัติและยื่นใบสมัครด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ http://ntag.moac.go.th หรือยื่นใบสมัครกับเจ้าหน้าที่เกษตรตำบล หรือที่สำนักงานเกษตรอำเภอ ตั้งแต่ 27 สิงหาคม – 2 กันยายน 2563
นายอนันต์ กล่าวว่า จากการขับเคลื่อน โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ดังกล่าว คาดว่าจะเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนในรูปแบบเกษตรทฤษฎีใหม่รวม 192,432 ไร่ ส่งผลให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ มีพื้นที่กักเก็บน้ำเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 2,100 ลูกบาศก์เมตร/ราย เกษตรกรได้รับการพัฒนาให้มีความมั่นคงในอาชีพทำเกษตรกรรมยั่งยืน และมีแปลงต้นแบบเพื่อการเรียนรู้ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ 64,144 คน รวมทั้งเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ในพื้นที่จำนวน 32,072 รายอีกด้วย”