นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบน "พาราควอต" และ "คลอร์ไพริฟอส" และมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2563 ซึ่งกำหนดให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมาแล้วนั้น
ต่อมากระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ดำเนินการทบทวนประกาศว่าด้วยเรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้างเพื่อให้สอดคล้องกับการยกเลิกการใช้สารทั้ง 2 ชนิด โดยได้มีการยกร่างและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่มีความเห็นว่าเมื่อแบนสารทั้ง 2 ชนิดแล้วจะต้องไม่พบการตกค้างในอาหารของสารดังกล่าวอีกต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วิพากษ์ “พืชสมุนไพร”ใช้แทน“พาราควอต -คลอร์ไพริฟอส”
“เกษตรกร” รีบส่งคืน “พาราควอต- คลอร์ไพริฟอส”
บี้ทบทวนแบน "พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส"
โวย 2 มาตรฐาน หลังแบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส”
อย่างไรก็ดี ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 คณะกรรมการอาหาร ได้มีข้อสรุป คือ 1.เพิ่มรายชื่อของพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ในบัญชีหมายเลข 1 (รายการสารที่แบนแล้ว) ของประกาศกระทรวง เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง 2.ยกเลิกค่าการตกค้างที่อนุญาตให้พบในอาหาร(Maximum Residue Limit-MRL) โดยต้องตรวจไม่พบสารพิษตกค้างจากวัตถุอันตรายที่ยกเลิกแล้ว (Not Detected) และ 3.มีผลบังคับใช้ 1 มิถุนายน 2564 กับอาหารที่ผลิตในประเทศและนำเข้าต้องปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้
เป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมจึงมีการผ่อนปรนให้ผู้นำเข้าอาหารจากต่างประเทศต้องปฏิบัติตามประกาศฉบับใหม่ ให้มีผลบังคับใช้ 1 มิถุนายน 2564 โดยในช่วงนี้ให้คงค่าสารตกค้างได้ตามค่าโดเดกซ์ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้นักวิชาการพวกตระกูลหมอทั้งที่เกษียณไปแล้วและไม่เกษียณทั้งหลาย รวมทั้ง รมว. และรมช.สาธารณสุข รวมทั้งเอ็นจีโอบางพวกที่ออกมารณรงค์กันอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อแบน 2 สารเคมีให้จงได้ โดยพูดตรงกันว่า สารเคมีเหล่านี้แม้ได้รับปริมาณน้อย แต่ถ้าได้รับเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดเป็นมะเร็ง โรคพาร์กินสัน โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต
แม้ว่าจะตกค้างนิดหน่อยก็อันตราย แม้แต่กระบวนการยุติธรรมไทยก็วินิจฉัยเช่นนั้น แต่ทำไมเวลานี้กลับเงียบเป็นเป่าสาก หรือแสดงว่า ข้อมูลที่โฆษณาชวนเชื่อก่อนหน้านี้ เป็นข้อมูลเท็จ เพื่อใช้หลอกคนทั้งประเทศที่รู้ไม่เท่าทันท่านทั้งหลายเท่านั้นใช่หรือไม่
การแบนสารพิษทั้ง 2 ชนิดข้างต้น เป็นที่ถกเถียงกันมากว่าทำเพื่อใคร เพื่ออะไร ถ้าแบนแล้วยังปล่อยให้มีการนำเข้าสารวัตถุดิบอาหารที่ยังมีการเจือปนสารพิษเหล่านั้นอยู่ หรือเก่งแต่จะห้ามเกษตรกรไทยใช้ แต่กลับปล่อยให้นักธุรกิจนายทุนสามารถนำเข้าวัตถุดิบที่มีสารตกค้างมาให้คนไทยใช้ได้ ดูช่างเป็นนโยบายที่ย้อนแย้งกันสิ้นดี ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเกษตรกรไทย ตกเป็นเบี้ยล่างและกลายเป็นหมากเบี้ยให้นักวิชาการ-นักการเมืองกำมะลอแสวงหาประโยชน์เท่านั้น เรื่องนี้ไม่จบลงง่ายๆแน่ คอยดูกันต่อไป