ขสมก.ลุยแผนฟื้นฟู จ้างเอกชนเดินรถ 54 เส้นทาง

26 ส.ค. 2563 | 11:04 น.

ขสมก.ยืนยันจ้างเอกชนร่วมเดินรถ 1,500 คัน ในเส้นทางของเอกชนในอัตรา 34 บาทต่อกม.หลังเดินหน้าแผนฟื้นฟูต่อเนื่อง ขีดเส้นใต้เดินรถ 240 กม.ต่อคันต่อวัน

นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ตามที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าว กรณีเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 ขสมก.เชิญผู้ประกอบการรถเอกชน จำนวน 24 บริษัท มาร่วมรับฟังรายละเอียด เกี่ยวกับการจ้างเอกชน เดินรถในเส้นทางของเอกชน ประมาณ 54 เส้นทาง ด้วยความสมัครใจ ตามแผนฟื้นฟูกิจการองค์การ โดยจ่ายค่าจ้างตามกิโลเมตรที่วิ่งให้บริการจริง ในอัตรา 34.27 บาทต่อกิโลเมตร นั้น ขสมก.ขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้

1. ตามแผนฟื้นฟูกิจการองค์การ จะมีการจ้างเอกชนร่วมเดินรถ ประมาณ 1,500 คัน เพื่อวิ่งในเส้นทางเดินรถของเอกชน ที่ได้รับใบอนุญาตเดินรถจากกรมการขนส่งทางบก ประมาณ 54 เส้นทาง ด้วยความสมัครใจ โดย ขสมก.จะจ่ายค่าจ้างตามกิโลเมตรที่วิ่งให้บริการจริง ในอัตราที่ ขสมก.กำหนดไว้เบื้องต้น (ราคากลาง) ก่อนมีการประกวดราคา คือ 34.27 บาทต่อกิโลเมตร ซึ่งเอกชนจะต้องนำรถโดยสารออกวิ่ง เฉลี่ย 240 กิโลเมตรต่อคันต่อวัน

 

2. ขสมก.ได้อ้างอิงข้อมูลราคากลาง 34.27 บาทต่อกิโลเมตร จากผลการศึกษาโครงสร้างต้นทุนการประกอบการของผู้ประกอบการ รถเอกชนร่วมบริการปรับอากาศ ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) ซึ่งตัวเลขดังกล่าว เป็นเพียงราคากลาง สำหรับใช้ในการประกวดราคา (e - bidding) เท่านั้น ผู้ประกอบการรถเอกชน จะต้องเสนออัตราค่าจ้างวิ่งในราคาต่ำสุด (ต่ำกว่าราคากลาง) เพื่อเป็นผู้ชนะการประกวดราคา และได้รับสิทธิร่วมเดินรถกับ ขสมก. ซึ่งในการประชุมผู้ประกอบการรถเอกชน เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 ไม่มีผู้ประกอบการรถเอกชนรายใด เสนออัตราค่าจ้างวิ่ง ในราคา 30 บาทต่อกิโลเมตร ตามที่สื่อมวลชนได้นำเสนอ

3. รถโดยสารที่ ขสมก.จะให้เอกชนร่วมเดินรถ ประมาณ 1,500 คัน ต้องเป็นรถโดยสารแบบชานต่ำ EV, NGV หรือ รถที่ใช้พลังงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่มีการติดตั้งระบบ E-Ticket, GPS, WiFi มาพร้อมกับตัวรถ และจะต้องเป็นรถใหม่ หรือ รถที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 2 ปี นับตั้งแต่วันจดทะเบียน เท่านั้น ส่วนรถโดยสาร EV ที่ ขสมก.จะเช่าตามกิโลเมตรที่วิ่งให้บริการจริงจากผู้ประกอบการ เพื่อนำมาวิ่งในเส้นทางเดินรถของ ขสมก. (108 เส้นทาง) มีจำนวน 2,511 คัน

 

4. เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ขสมก.จึงต้องจ้างผู้ประกอบการรถเอกชน ที่ได้รับใบอนุญาตเดินรถจากกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น ในการเข้าร่วมเดินรถกับ ขสมก.ตามความสมัครใจ เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างรถโดยสารของ ขสมก.และรถโดยสารเอกชนได้อย่างไร้รอยต่อ โดยจัดเก็บค่าโดยสารในระบบเดียวกัน และเป็นโครงข่ายเดียวกัน ส่วนผู้ประกอบการรถเอกชน ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตเดินรถจากกรมการขนส่งทางบก แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1.) กลุ่มที่ยังไม่ได้ข้อยุติ เพื่อให้เหลือผู้ประกอบการเพียงรายเดียว ในการยื่นขอรับใบอนุญาต

2.) กลุ่มที่มีหนี้สินค้างชำระจำนวนมาก และไม่มาดำเนินการรับสภาพหนี้