นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในฐานะประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการใช้พื้นที่เขตทางหลวงในการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ว่า สำหรับความคืบหน้าการส่งมอบพื้นที่นั้นเชื่อว่าจะส่งมอบพื้นที่ได้ทันตามกำหนด เนื่องจากทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาเป็นอย่างดี ซึ่งทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งช่วยขยายความเจริญสู่ 3 จังหวัดในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แบบไร้รอยต่อ
อ่านข่าว เวนคืน 3,000หลัง ลากไฮสปีด ‘อู่ตะเภา-แกลง’
อ่านข่าว เบี่ยงแนว "ไฮสปีด" 70 กม. หลบท่อนํ้ามัน แทปไลน์ "สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา"
“ปัจจุบันอยู่ระหว่างรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค เพื่อเตรียมส่งมอบพื้นที่ ถึงแม้ว่างบประมาณในการรื้อย้ายที่บรรจุอยู่ในงบประมาณประจำปี 2564 ยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาจากกรรมาธิการ แต่คาดว่าจะได้รับอนุมัติภายในปลายปีนี้ โดยปัจจุบันทุกหน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภคได้ดำเนินการว่าจ้างบริษัทเพื่อเตรียมรื้อย้าย ถือเป็นการทำงานควบคู่ไปก่อนแล้ว”
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ขณะเดียวกันการลงนามข้อตกลงว่าด้วยการใช้พื้นที่เขตทางหลวงครั้งนี้ ทล.พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเป็นการอนุญาตให้ใช้พื้นที่เขตทางหลวงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่เมื่อดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ร.ฟ.ท.จะต้องปรับปรุงพื้นที่เขตทางให้สมบูรณ์เพื่อส่งมอบคืนให้ ทล.
สำหรับเขตทางหลวงที่ไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินมีจุดพาดผ่าน ครอบคลุม 4 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง รวม 29 จุด 19 เส้นทาง ซึ่งแบ่งเป็นเส้นทางโครงข่ายที่เปิดใช้งานอยู่ในปัจจุบัน 16 เส้นทาง และเส้นทางที่จะมีการพัฒนาในอนาคตอีก 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา ทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) M61 ช่วงแหลมฉบัง – ฉะเชิงเทรา – นครราชสีมา และมอเตอร์เวย์ วงแหวนกรุงเทพ รอบที่ 3 (M91) ทั้งนี้ในปัจจุบันมีการเคลียร์พื้นที่เพื่อวางตอม่อแล้ว 15 จุด เหลือพื้นที่อีก 14 จุด ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาวางตอม่อที่จะมีการพัฒนาแนวเส้นทางดังกล่าวอีก 3 เส้นทางในอนาคต
นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการกลุ่มบริหารรถไฟฟ้า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ตามแผนงานเดิม ร.ฟ.ท.มีกำหนดส่งมอบพื้นที่ส่วนแรก ม.ค.2564 แต่เนื่องจากปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณรื้อย้ายที่อยู่ระหว่างขออนุมัติ รวม 4.1 พันล้านบาทยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณา ร.ฟ.ท.จึงประเมินว่าการส่งมอบพื้นที่อาจจะล่าช้ากว่าแผนเดิมประมาณ 2 เดือน หรือสามารถส่งมอบพื้นที่ส่วนแรกได้ราว ก.พ. – มี.ค.2564
ทั้งนี้การส่งมอบพื้นที่จะช้ากว่าแผนที่กำหนด แต่ก็ไม่ได้ล่าช้ากว่ากำหนดเดตไลน์ที่ระบุไว้ในสัญญา เพราะกำหนดในสัญญา ร.ฟ.ท.จะต้องส่งมอบพื้นที่ให้ภายใน ต.ค.2564 อย่างไรก็ดีเราเชื่อว่างบรื้อย้ายจะได้รับการอนุมัติภายในปลายปีนี้ และพื้นที่ส่วนแรกที่เราจะออกหนังสือให้เริ่มงานก่อสร้าง (Notice to Proceed: NTP) คือช่วงสุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา
อย่างไรก็ตามความคืบหน้าของการเข้ารับบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.พร้อมส่งมอบให้กับเอกชนรับไปบริหารแล้ว ดังนั้นต้องรอให้เอกชนมีความพร้อมด้านการเงินที่จะมาจ่ายค่าโอนสิทธิ์บริหารตามสัญญาก่อน ซึ่งวงเงินชำระค่าสิทธิบริหาร อยู่ที่ 10,671 ล้านบาท โดยปัจจุบันได้หารือกับทางเอกชนอย่างใกล้ชิด ทราบว่าอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดปรับปรุงบริการ และระบบของแอร์พอร์ตลิงก์เพิ่มเติม รวมทั้งอยู่ระหว่างเตรียมบุคลากร