นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สถานการณ์ส่งออกข้าว 7 เดือนของปีนี้ส่งออกได้ 3,295,046 ตัน มูลค่า 69,470 ล้านบาท หรือ 2,222.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปริมาณส่งออกลดลง 32.9% และมูลค่าลดลง 15.1% เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีการส่งออกปริมาณ 4,907,467 ตัน มูลค่า 81,847 ล้านบาทหรือ2,596.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไม่มั่นใจว่าทั้งปีจะถึง 6.5 ล้านตันหรือไม่ แต่ต้องดูว่าผลผลิตข้าวนาปีในช่วง 3 เดือนสุดท้ายจะมีผลผลิตข้าวออกมามากน้อยแค่ไหน
“การส่งออกจะเป็นที่ 1 หรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะคู่แข่งของไทย ทั้งจีน อินเดีย มีพื้นที่เพาะปลูก มีผลผลิตข้าวมากกว่าไทย ส่วนไทยมีพื้นที่เพาะปลูกจำกัดเพียง 60 ล้านไร่ หากจะอยู่ในลำดับที่ 2 หรือ 3 ไม่เสียหาย ขอให้ข้าวไทยเป็นที่ต้องการ และราคาข้าวในประเทศไม่ตกต่ำดีกว่า โดยยุทธศาสตร์ข้าวที่ได้จัดทำขึ้นนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้ข้าวไทยแข่งขันได้ เกษตรกรขายข้าวได้ “”นายเจริญ กล่าว
ส่วนการส่งออกข้าวในเดือนก.ค. 2563 มีปริมาณ 409,451 ตัน มูลค่า 7,988 ล้านบาท โดยปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 31.6% และ 9.3% เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย.2563 ที่ส่งออกได้เพียง 311,166 ตัน มูลค่า 7,310 ล้านบาท เนื่องจากการส่งออก ข้าวขาวและข้าวนึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากผู้นำเข้าโดยเฉพาะในแถบแอฟริกาได้หันมานำเข้าข้าวจากไทยมากขึ้น เนื่องจากประเทศอินเดียกำลังเผชิญกับการระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างหนัก ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานและอุปสรรคด้านโลจิสติกส์ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกที่ต้องชะลอลง ทั้งนี้ในเดือนก.ค. 2563 มีการส่งออกข้าวขาว ปริมาณ 164,041 ตัน เพิ่มขึ้น 34.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่ส่งไปยังประเทศแองโกล่า แคเมอรูน ญี่ปุ่น โมซัมบิก เบนิน เป็นต้น ส่วนการส่งออกข้าวนึ่งมีปริมาณ 118,673 ตัน เพิ่มขึ้น 134.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่วนใหญ่ส่งไปตลาดประจำ ในแถบแอฟริกา เช่น แอฟริกาใต้ เบนิน แคเมอรูน เยเมน เป็นต้น สำหรับการส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ 58,464 ตัน ลดลง 23.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนซึ่งส่วนใหญ่ยังคงส่งไปยังตลาดประจำ เช่น สหรัฐฯ ฮ่องกง จีน แคนาดา สิงคโปร์ เป็นต้น
สำหรับการส่งออกในเดือนส.ค.2563 คาดว่าการส่งออกข้าวจะอยู่ที่ 4-5 แสนตัน เนื่องจากผู้นำเข้าในแถบแอฟริกายังมีความต้องการข้าวทั้งจากขาว ข้าวนึ่ง จากไทยและอินเดีย ปากีสถานต่างประสบปัญหาด้านโลจิสติกส์ทำให้ส่งมอบล่าช้า ทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ แต่ก็ไม่มากนัก ในส่วนของการส่งออกข้าวหอมมะลิมีแนวโน้ชะลอลงอย่างอย่างต่อเนื่องเพราะประเทศผู้นำเข้าได้นำเข้าข้าวไปแล้วจำนสนมากก่อนหน้านี้ทำให้มีสต็อกข้าวเพียงพอแล้ว
ทั้งนี้ราคาข้าวไทยช่วงนี้ยังสูงกว่าคู่แข่ง แม้ว่าค่าเงินบาทจะมีแนวโน้มอ่อนลง แต่อุปทานข้าวในประเทศยังมีจำกัดและผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยทำให้ราคาข้าวในประเทศอยู่ในระดับสูง ทำให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งประมาณ 40-150 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน โดยราคาข้าวขาว 5% ราคา 525ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ส่วนของเวียดนามราคา 485-489 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน อินเดีย 368-372 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และปากีสถาน 393-397 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน