สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ถอนคำขอใช้วงเงินภายใต้โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท ตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ในการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SMEs) ที่ยังไม่เคยเข้าถึงแหล่งทุนวงเงิน 5 หมื่นล้านบาทเรียบร้อยแล้ว หลังจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความว่าวงเงินจาก พ.ร.ก. กู้เงินฯดังกล่าว เป็นลักษณะของงบประมาณรายจ่ายเฉพาะ ไม่อาจนำมาใช้สำหรับการจัดตั้งกองทุน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ยังไม่เคยเข้าถึงแหล่งทุนตามวัตถุประสงค์ของสสว. ได้
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว. เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สสว. ยังคงเดินหน้าเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี ผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปีปกติ ซึ่ง สสว. ได้รับการจัดสรรงบอยู่ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี โดยจากงบจำนวนดังกล่าวหากจะให้ช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั้งหมดในระบบประมาณ 3 ล้านรายคงไม่เพียงพอ ยังไม่รวมนอกระบบอีกประมาณ 5 ล้านราย
ในเบื้องต้นทาง สสว.ได้นำเสนอแนวทางในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีแบบองค์รวม ผ่านการทำระบบปฏิบัติการ หรือแพลตฟอร์ม โดยการทำระบบนิเวศ (Ecosystem) ทางด้านการตลาด และการยกระดับปรับคุณภาพ เป็นต้น ซึ่งสสว. ได้นำเสนอให้คณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) สสว. พิจารณาไปแล้วในเบื้องต้นใน 3 แนวทาง ประกอบด้วย 1.การเข้าถึงแหล่งทุน 2.การเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ เพื่อทำให้มีกำไรมากขึ้น และ 3.การหาช่องทางการทำตลาด ทั้งออฟไลน์ และออนไลน์
อย่างไรก็ดีทางบอร์ดได้มอบหมายให้ สสว.กลับมาทำรายละเอียดเพิ่มเติมให้ชัดเจน โดยจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 16 กันยายน 2563 ซึ่งในภาพรวม สสว. จะนำเสนอโดยให้ดำเนินการผ่านการท่องเที่ยว ซึ่ง สสว. ได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ทำเป็นลักษณะของการท่องเที่ยวระยะยาว หรือประมาณ 3 เดือน โดยเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังสถานที่ที่กำหนดครั้งละประมาณ 40-50 คน โดยต้องผ่านมาตรการการคัดกรองโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด หลังจากนั้นจึงจะเดินทางออกไปท่องเที่ยว และจับจ่ายใช้สอยได้ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ในพื้นที่ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการคัดเลือกสถานที่ในภูมิภาคต่าง ๆ ที่มีความพร้อมตามความเหมาะสม
นอกจากนี้ จะมีการสร้างอาชีพแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.จากภูมิปัญหา หรือวัฒนธรรมท้องถิ่น จากขณะนี้มีผู้ที่ถูกเลิกจ้าง เดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก เช่น การเลี้ยงปลากัด ซึ่งมีมูลค่าตลาดประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี หากมีการเปิดสอนวิธีการเลี้ยงประมาณ 1 เดือนก็จะสามารถทำได้ และช่วยกันสร้างตลาด สร้างมูลค่าเพิ่ม อาจเพิ่มมูลค่าตลาดได้ถึง 1,000 ล้านบาทต่อปี
2.การทำระบบแฟรนไชส์ ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ เบเกอรี นวดไทย สปา ฯลฯ เนื่องจากเวลานี้ทุกคนต้องการอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ การให้เงินทุนอุดหนุนจะช่วยให้เริ่มต้นกิจการได้เร็วขึ้น
“หากแนวทางข้างต้นหากผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดบริหาร สสว.ในวันที่ 16 กันยายนนี้ ก็จะส่งต่อไปยังคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมประมาณเดือนตุลาคม หากเห็นชอบก็สามารถดำเนินการได้ทันที หรือหากจะทำให้โครงการมีขนาดใหญ่ขึ้น ก็อาจจะถูกนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอใช้งบกลางเข้ามาช่วยสนับสนุนเพิ่มเติมได้ โดยคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดข้างต้นมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เชื่อว่าน่าจะรับแนวทางที่ สสว. จะนำเสนอ”
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้นำเสนอรัฐบาลในการเพิ่มสภาพคล่องแก่เอสเอ็มอี ซึ่งเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของประเทศหลายแนวทาง ล่าสุดเสนอให้ออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท เพื่อดูแลเศรษฐกิจฐานราก และเป็นเงินกู้ซอฟต์โลนแก่เอสเอ็มอีที่มีปัญหาสภาพคล่องและยังไม่ได้รับการดูแล
“ที่สำคัญเวลานี้ภาคเอกชนเสนอให้รัฐบาลเร่งแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่อย่างช้าภายในเดือนกันยายนนี้ เพราะเป็นหนึ่งในกระทรวงใหญ่ที่ต้องมีคนมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งโดยเร็ว จะเป็นใครก็ได้ที่รู้เรื่องเศรษฐกิจและการคลังเป็นอย่างดี”
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3608 วันที่ 10-12 กันยายน พ.ศ.2563
ข่าวที่เกี่ยวข้อง