ประมูล ปี64 รถไฟ ทางคู่ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ”หดเหลือ3สัญญา

14 ก.ย. 2563 | 04:04 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ย. 2563 | 12:27 น.

รายงาน : รฟท.ทบทวนมติ ครม.ปี61 รื้อ สัญญา รถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ รวม งานโยธา-ระบบ เหลือ 3สัญญา จาก 7สัญญาลด ความวุ่นวาย ดันประมูลกลางปี 64

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบผลการดำเนินงานโครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และเห็นชอบการขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2561 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

                เบื้องต้นทางกระทรวงคมนาคมขอให้ยกเลิกความเห็นเพิ่มเติมที่ขอให้โครงการฯ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง (คกจ.) ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  ที่ 11/2560 ในการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้การดำเนินการจัดซื้อของโครงการฯมีความโปร่งใสและเป็นธรรมตามหลักธรรมาภิบาล เนื่องจากปัจจุบัน คกจ.ได้สิ้นสภาพลง ซึ่งทำให้แนวทางการดำเนินงานดังกล่าวเป็นประเด็นเรื่องประสิทธิภาพการบริหารจัดการโครงการตามที่รฟท.เสนอมา รวมทั้งมีมติให้ยกเลิกความเห็นเพิ่มเติมในส่วนของการประกวดราคาจ้างก่อสร้างเพื่อดำเนินงาน ทั้งนี้ในส่วนขั้นตอนของการประกวดราคาจ้างงานก่อสร้าง เห็นชอบให้รฟท. ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560

                สำหรับรายละเอียดผลการศึกษากระทรวงคมนาคมที่ออกมาจากแฟ้มทำเนียบรัฐบาล  ระบุว่า ภายหลัง มติ ครม.เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2561 นั้น ทาง รฟท.ได้เสนอให้มีการพิจารณาเปลี่ยนแปลงแนวทางการแบ่งสัญญาโครงการดังกล่าวเหลือเพียง 3 สัญญา จากเดิมที่ครม.อนุมัติสัญญาก่อสร้างทั้งหมด 7 สัญญา ประกอบด้วย งานสัญญาด้านโยธา จำนวน 6 สัญญา และสัญญางานระบบอาณัติสัญญาณฯ จำนวน 1 สัญญา  ขณะเดียวกัน รฟท.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาและจัดการประกวดราคาก่อสร้างโครงการฯ รวมทั้งทบทวนแนวทางการแบ่งสัญญาตามที่เสนอมา

               

ประมูล ปี64 รถไฟ ทางคู่ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ”หดเหลือ3สัญญา

 

ทั้งนี้ รฟท.ได้มีการทบทวนแนวทางการแบ่งสัญญาก่อสร้างโครงการฯระหว่าง 3 สัญญา  ซึ่งรวมงานโยธาและงานระบบอาณัติสัญญาณฯ  ไว้ในแต่สัญญาตามที่เสนอขออนุมัติ ดำเนินการโครงการฯจากครม. โดยเปรียบเทียบกับการแบ่งเป็น 7 สัญญา ซึ่งแยกงานโยธาและงานระบบอาณัติสัญญาณฯ ออกจากกัน พบว่า กรณีที่แบ่งออกเป็น 3 สัญญานั้น ในด้านการบริหารสามารถบริหารโครงการฯได้ง่ายไม่มีปัญหาข้อโต้แย้งระหว่างผู้รับเหมาโดยผู้รับเหมาแต่ละรายสามารถเร่งรัดงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ด้านงบประมาณ ค่าดำเนินการจะไม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถใช้เครื่องมือเครื่องจักรร่วมกันได้ โดยไม่ต้องจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการฯ (PMC) ส่วนด้านระยะเวลาสามารถเปิดเดินรถได้ตามแผน เนื่องจากสามารถควบคุมการดำเนินงานภายใต้สัญญาเดียวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันในกรณีที่แบ่งออกเป็น 7 สัญญา นั้น พบว่าด้านการบริหารมีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาข้อโต้แย้ง เนื่องจากมีการทำงานที่ซับซ้อน ไม่สามารถเร่งรัดงานให้มีประสิทธิภาพได้ สำหรับด้านงบประมาณ ค่าดำเนินการเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่สามารถใช้เครื่องมือเครื่องจักรร่วมกันได้ ทำให้ต้องจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการฯ (PMC) มาบริหาร เพราะมีหลายสัญญา ส่วนด้านระยะเวลา ไม่สามารถเปิดเดินรถได้ตามแผน เพราะไม่สามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยงจากการแยกสัญญางานระบบอาณัติสัญญาณฯ ออกจากงานโยธาได้ ซึ่งทำให้เกิดข้อพิพาทจากการทำงานบนพื้นที่ทับซ้อนกัน

                ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ได้พิจารณาทบทวนแนวทางการแบ่งสัญญาก่อสร้างโครงการฯ โดยเปรียบเทียบกับกรณีที่ รฟท.เคยดำเนินการในแต่ละแนวทางมาแล้ว พบว่ามีโครงการที่รวมสัญญางานโยธาและงานระบบอาณัติสัญญาณฯ ไว้ในแต่ละสัญญา ทั้งหมด 2 โครงการ  ประกอบด้วย 1.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา คลองสิบเก้า-แก่งคอย โดยขยายสัญญาเพิ่ม 7 เดือน เนื่องจากติดปัญหาผู้บุกรุกและการเวนคืน ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก 2.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ ขอนแก่น ซึ่งขยายสัญญาเพิ่ม 6 เดือน เนื่องจากติดการปรับรูปแบบงานก่อสร้างสถานีรถไฟบ้านไผ่ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก 

                ขณะเดียวกันพบว่ามี 5 โครงการ ที่แยกสัญญางานระบบอาณัติสัญญาณฯ ออกจากสัญญางานโยธา ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ 2.โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 3.โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน 4.โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และ 5.โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยมีแนวโน้มว่าโครงการดังกล่าวจะมีความล่าช้ากว่าแผน 1-2 ปี เนื่องจากติดปัญหาการประสานงานระหว่างงานโยธาและงานระบบอาณัติสัญญาณฯ

            

 

 

    โดยผลการศึกษากระทรวงคมนาคมที่ออกมาจากแฟ้มทำเนียบรัฐบาล ระบุอีกว่า  ปัจจุบันทางกระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบตามความเห็นของบอร์ด รฟท. โดยให้รวมสัญญางานโยธาและงานระบบอาณัติสัญญาณฯ ไว้ในแต่ละสัญญา รวมเป็น 3 สัญญา ซึ่งจะทำให้การบริหารสัญญามีความคล่องตัวก่อให้เกิดประสิทธิภาพทางด้านการควบคุมงานและเกิดการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการแยกสัญญางานโยธาและงานระบบอาณัติสัญญาณฯ ออกเป็น 7  สัญญา เนื่องจากการบริหารโครงการฯที่มีผู้รับจ้างหลายรายจะมีความซับซ้อนมากขึ้น ขาดความยืดหยุ่นในการบริหารสัญญา และอาจทำให้มูลค่าโครงการฯโดยรวมเพิ่มขึ้น

                รายงานข่าวจาก ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ล่าสุดโครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของนั้นครม. ได้มีมติอนุมัติโครงการและหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ต้องการเวนคืนของโครงการเพื่อสร้างทางรถไฟ สะพานข้ามทางรถไฟในเส้นทาง 4 จังหวัด อาทิ แพร่ ลำปาง พะเยา และเชียงราย เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา โดยรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านการอนุมัติเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้คาดว่าจะประกาศประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. วงเงินรวม 85,345 ล้านบาท ภายในปี 2564

                ส่วนท้ายที่สุดแล้วการแบ่งสัญญาจะเป็น 3 สัญญา หรือ 7 สัญญา หากทำให้การเดินรถสามารถดำเนินการได้ตามแผน เชื่อว่าเร็วๆ นี้ ผู้โดยสารรถไฟทางคู่เตรียมเฮแน่นอน

หน้า7หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับ 3609 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

เจาะอุโมงค์ รถไฟยาวสุดในไทย ดัน "เด่นชัย-เชียงของ" สิบสองปันนา 2

5 รับเหมาจีน ฝ่าดงไวรัส จอง 6 สัญญา ทางคู่ “เด่นชัย-เชียงของ”

ท้องถิ่นโวยธุรกิจถูกแช่แข็ง ทางคู่ ‘เด่นชัย-เชียงของ’อืด