สถานการณ์โควิด-19 มีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของไทยทั้งในแง่ลบ และแง่บวก การใช้กำลังผลิตยังไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ในเร็ววัน ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมไทยจึงต้องปรับตัวเองเพื่อความอยู่รอดในทุกวิถีทาง
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อุตสาหกรรมที่ยังมีโอกาสในการทำธุรกิจได้ดีในยุคโควิด-19 มองว่าอุตสาหกรรมภาคการเกษตร อาหารแปรรูปยังสามารถไปได้ โดย กสอ.ได้เข้าไปสนับสนุนภาคเกษตรอุตสาหกรรมมากเป็นพิเศษ จากประชาชนทั่วโลกยังต้องมีการบริโภคอาหารเป็นหลัก นอกจากนี้มีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้รับอานิสงส์จากการปรับสู่ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ของประชาชน และวัสดุป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น ฉากกั้นการแพร่กระจายของน้ำลาย เป็นต้น
“จะเห็นว่าปัจจุบันหน้ากากผ้าเองก็มีการปรับตัวโดยปรับรูปแบบให้เข้ากับเสื้อผ้าที่สวมใส่มากขึ้น หรือเรียกว่ากลายเป็นแฟชั่น ขณะที่ฉากกั้นเองที่ร้านอาหารใช้ก็มีปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับแพ็กเกจจิ้งที่เติบโตขึ้นตามความต้องการใช้งานของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้บริโภค และอุตสาหกรรมทางด้านขนส่งสินค้า หรือโลจิสติกส์ จะเห็นว่ามีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น โดยที่ผู้ประกอบการเองก็ต้องพยายามสร้างจุดแข็งให้กับธุรกิจของตนเอง”
ทั้งนี้เท่าที่สำรวจอย่างเป็นทางการ กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ หรือจีดีพีประเทศส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่เกี่ยวกับภาคบริการที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว ซึ่งดูแล้วภาคการท่องเที่ยวน่าจะยังไม่ฟื้นตัวอีกนาน เพราะปัจจัยที่เกี่ยวข้องไม่ใช่มาจากแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นทั้งโลกซึ่งประชาชนมีรายได้ลดลง แม้โควิด-19 จะจบลงแต่ก็เชื่อว่าการท่องเที่ยวก็ยังไม่กลับมาเหมือนเดิม เพราะผู้คนทั่วโลกมีความสามารถในการใช้จ่ายที่ลดลง ดังนั้นการกระตุ้น การท่องเที่ยวในประเทศ ก็ทำได้เพียงแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น
อย่างไรก็ดีสถานการณ์ช่วงเดือนที่เหลือของปี มองว่าจะต้องมีความคาดหวังว่าทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิมตามปกติ จากปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีแล้วในหลายธุรกิจ เช่น อุตสาหกรรมการผลิตถุงมือยางที่ใช้ทางการแพทย์ ที่ถูกนำมาใช้ในหลากหลายธุรกิจ เช่น ร้านอาหาร ร้านนวด สปา ร้านตัดผม เป็นต้น หรืออุตสาหกรรมการผลิตหน้ากากอนามัยที่กลายเป็นอุปกรณ์จำเป็นในการดำเนินชีวิต และเป็นมาตรฐานในการให้บริการของทุกธุรกิจ เช่น ร้านขายอาหารทั่วไป โดยแม้ว่าโควิด-19 จะหมดไป แต่ก็เชื่อว่าจะยังเป็นมาตรฐานในการให้บริการ หรือควบคุมคุณภาพต่อไป
ข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ระบุว่า อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2558-2562) มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 4.09% โดยสถานการณ์โควิดได้เร่งให้อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศมีการลงทุนเพิ่มในอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ขาดแคลน เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง
สอดคล้องกับข้อมูลของบีโอไอที่มุ่งส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมการแพทย์ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้มีมาตรการเร่งรัดการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ ที่สิ้นสุดระยะเวลาการยื่นขอรับการส่งเสริมเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา มีโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมและอยู่ในเกณฑ์ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามมาตรการนี้ 52 โครงการ มูลค่าการลงทุน 13,070 ล้านบาท ส่วนอุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร ขอรับส่งเสริม 76 โครงการ มูลค่าการลงทุน 15,300 ล้านบาท