การปรับเกณฑ์ประมูลหรือเงื่อนไขทีโออาร์ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี มูลค่า 1.4แสนล้านบาท ในส่วนการเดินรถทั้งระบบและงานโยธาช่วงสายสีส้มตะวันตกของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) หลังปิดขายเอกสารเอกชนร่วมลงทุน ส่งผลกระทบก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ การใช้ดุลยพินิจชี้ขาดให้กับรายใดรายหนึ่ง เนื่องจากทีโออาร์ใหม่ ระบุชัดว่า ผู้ที่ร่วมประมูลหลัก
ต้องมีคุณสมบัติ เคยผ่านการ ก่อสร้างระบบรางรถไฟแบบยึดพื้นผิว ไม่ใช่รางโรยกรวด และเคยก่อสร้างอุโมงค์ทั้งลอดแม่น้ำเจ้าพระยาและใต้ดินมาก่อน ซึ่งบีทีเอสกรุ๊ปและบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)ไม่เคยปรากฏว่ามีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน ต่างจากทีโออาร์เดิมที่ใช้ราคาเป็นเกณฑ์ หากชนะประมูลอาจหาพันธมิตรที่ชำนาญการมาร่วมงานได้ในภายหลัง เมื่อเป็นเช่นนี้ เท่ากับถูกปรับตกด้านเทคนิคตั้งแต่แรก อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 16 กันยายน บีทีเอส ได้ประกาศส่งทนายความยื่นฟ้องรฟม.ต่อศาลปกครอง เพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวและ หวังให้ศาลชี้ขาด ให้ใช้เกณฑ์ทีโออาร์เดิมแข่งขันประมูลสายสีส้มเพื่อความเป็นธรรม
แหล่งข่าวภายในสำนักงานศาลปกครอง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ช่วงเย็นของวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา ทนายความ ของบีทีเอสได้ยื่นฟ้องศาล เพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวกรณีประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยระบุสั้นๆว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจาก รฟม.แก้ไขเกณฑ์ทีโออาร์ใหม่ หลังจากปิดการขายซองส่อเจตนาใช้ดุลยพินิจและต้องการให้ศาลวินิจฉัยให้รฟม.ใช้หลักเกณฑ์ทีโออาร์เดิมคือ การใช้ราคาในการตัดสิน
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอสซี) เปิดเผยว่า สำหรับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชน(Request for Proposal Documents: RFP) เป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ส่วนตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) นั้น ขณะนี้รฟม.ได้ทำหนังสือแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การ
พิจารณาฯไปยังผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอการเข้าร่วมลงทุนฯ ทั้ง 10 รายแล้ว โดยการปรับหลักเกณฑ์ในครั้งนี้จะนำคะแนนข้อเสนอด้านเทคนิคมาเป็นเกณฑ์ประเมินร่วมกับข้อเสนอด้านการเงินและผลตอบแทนด้านเทคนิค 30% ด้านราคา 70% เบื้องต้นทาง บีทีเอส ได้ทำหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะกรรมการการ (บอร์ด) รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แล้ว ทั้งนี้อยู่ระหว่างพิจารณายื่นร้องต่อศาลปกครอง ซึ่งต้องเดินหน้าไปตามขั้นตอน เรื่องกระบวนการศาลก็อยู่ในขั้นตอนพิจารณาเพื่อให้ยึดหลักเกณฑ์เดิมที่พิจารณาตัดสินด้านราคา 100%
“ในส่วนการปรับหลักเกณฑ์ในครั้งนี้เรามองว่าไม่เป็นธรรมเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ เนื่องจากมีการประกาศขายซองประมูลแล้วแต่กลับมาเปลี่ยนหลักเกณฑ์ฯ หลังปิดการประกาศประกวดราคาที่ผ่านมาการประกวดราคาจะใช้หลักเกณฑ์เปิดซองทีละด้าน แต่ไม่ได้นำเรื่องราคาและเทคนิคมารวมกันแบบนี้ ส่วนการขยายเวลาออกไป 45 วัน เพื่อให้เอกชนทำข้อเสนอตามเงื่อนไขใหม่ เชื่อว่าสามารถดำเนินการได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้เรายืนยันจะเข้าร่วมประมูลโครงการฯเหมือนเดิม”
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการหาพันธมิตรเพื่อร่วมลงทุนโครงการฯ คงไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่อง จากมีการปิดการขายซองประมูลแล้ว เพราะขณะนี้ผู้ซื้อซองทั้ง 10 รายก็รู้แล้วและแต่ละรายก็มีความถนัดอย่างไร
รายงานข่าวจากรฟม.ย้ำว่า ปัจจุบันได้แจ้งผู้ซื้อเอกสารฯ มีเวลาทำข้อเสนอตามเงื่อนไขใหม่จึงขยายเวลาการยื่นซองออกไปจากเดิมอีก 45 วัน จากวันที่ 23 ก.ย. เป็นวันที่ 6 พ.ย. 63 ซึ่งการปรับปรุงหลักเกณฑ์ครั้งนี้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 เพื่อให้ได้ผู้ร่วมลงทุนที่ดีที่สุด ทั้งนี้จากการตรวจสอบเบื้องต้นกับฝ่ายกฎหมายระบุว่าการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นสิทธิที่คณะกรรมการตามมาตรา 36 สามารถทำได้ตามกรอบอำนาจ ทั้งนี้หลังจากที่ รฟม. ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ซื้อเอกสารฯปรากฎว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ซื้อเอกสารฯ รายใดโต้แย้งเข้ามายัง รฟม.
ทั้งนี้กรณีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซีทำหนังสือคัดค้านการปรับปรุงหลักเกณฑ์มายัง รฟม.นั้น คณะกรรมการมาตรา 36กำลังหารือกับฝ่ายกฎหมายว่าตามระเบียบแล้วต้องทำหนังสือตอบกลับไปยังบีทีเอสซีอย่างเป็นทางการหรือไม่
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาได้ชี้แจงอย่างไม่เป็นทางการกับบีทีเอสซีไปแล้วว่าการปรับปรุงเป็นไปตามระเบียบ และประกาศของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) รวมทั้งเป็นอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการมาตรา 36 ยืนยันว่าคณะกรรมการมาตรา36 และ รฟม. ไม่ได้สนิทและเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดเป็นพิเศษและข้อเสนอด้านการเงินก็ยังคงเป็นตัวตัดสินหลัก
หน้า1หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ3611
ข่าวที่เกี่ยวข้อง