ท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่ยังระบาดทั่วโลก กระทบสินค้าหลายกลุ่มของไทยมียอดส่งออกที่ลดลง แต่อีกหลายกลุ่มสินค้าจำเป็นการส่งออกเริ่มขยายตัวเป็นบวกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าอาหารทั้งทูน่ากระป๋อง ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง และแปรรูป ไก่ อื่นๆ ที่น่าจับตามองคือสินค้าฮาลาล (สินค้าที่ผลิตตามหลักการและมาตรฐานของศาสนาอิสลาม) ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง มีผู้บริโภคชาวมุสลิมกว่า 2,200 ล้านคนทั่วโลกเป็นตลาดใหญ่ รวมถึงผู้บริโภคที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมก็ให้ความนิยมเพิ่มขึ้น
ชิงตลาดโลก 35 ล้านล้าน
จากข้อมูลของ Global Trade Atlas ระบุในปี 2562 ตลาดสินค้าอาหารารฮาลาลของโลกมีมูลค่ารวม 1.15 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(หรือกว่า 35.7 ล้านล้านบาท คำนวณที่ 31 บาทต่อดอลลาร์ โดยประเมินเบื้องต้นจากมูลค่าการนำเข้าส่งออกสินค้าอาหารของประเทศต่าง ๆ ไม่รวมสินค้าต้องห้ามตามหลักศาสนาอิสลาม) โดยผู้ส่งออก 10 อันดับแรกของโลกได้แก่ สหรัฐฯ, เนเธอร์แลนด์ , บราซิล, เยอรมนี,จีน, สเปน, ฝรั่งเศส, แคนาดา,อิตาลี และเบลเยียม ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 12 ของโลก เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย และอันดับ 1 ในอาเซียน (กราฟิกประกอบ) มีมูลค่าส่งออกในปี 2562 ที่ 29,331 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(9.09 แสนล้านบาท) และในช่วง 6 เดือนแรกปี 2563 มีมูลค่าส่งออก 14,494 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( 4.49 แสนล้านบาท)
ทั้งนี้ตลาดสินค้าฮาลาลที่ไทยส่งออกมากสุด 5 อันดับแรกได้แก่ จีน(มีประชากรมุสลิม 137.8 ล้านคน),กลุ่มประเทศมุสลิม(OIC) 57 ประเทศ, สหรัฐฯ( 6.8 ล้านคน), อินเดีย (265.8 ล้านคน) และรัสเซีย (24.7 ล้านคน) อาหารฮาลาลส่งออกที่สำคัญมีทั้งสินค้าเกษตรขั้นต้น ได้แก่ ผัก ผลไม้ ข้าว นํ้าตาล เนื้องสัตว์ปีก เช่น ไก่ และสัตว์นํ้า อาทิ กุ้ง ปลา รวมถึงสินค้าแปรรูป และอาหารสำเร็จรูป อาทิ เครื่องปรุงรส เครื่องดื่ม อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน ขนมขบเคี้ยว เป็นต้น
3 กลุ่มสินค้ามาแรง
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ประเภทอาหารฮาลาลที่มีแนวโน้มเติบโตนับจากนี้มี 3 กลุ่มคือ 1.อาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายมากขึ้นตามกระแสรักและใส่สุขภาพที่เพิ่มขึ้น เช่น ฟังก์ชั่นนัล ฟู้ดที่มีการเพิ่มสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายให้สูงขึ้น เช่น ซุปไก่ รังนกผสมสมุนไพร ข้าวกล้องและธัญพืชที่เสริมสารอาหารและวิตามิน เครื่องดื่ม เสริมเส้นใยอาหาร รวมถึงสินค้าที่มาจากธรรมชาติปราศจากสารเคมี เป็นต้น
2.อาหารฮาลาลสำหรับคนรุ่นใหม่ ที่มีจำนวนและกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น (ข้อมูลสถาบันอาหารประมาณการณ์ผู้บริโภคชาวมุสลิมรุ่นใหม่ที่มีอายุตํ่ากว่า 30 ปี มีประมาณ 60% ของประชากรมุสลิมทั่วโลก) โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้ต้องการอาหารที่เน้นรสชาติและรูปแบบของอาหารแปลกใหม่ เป็นอาหารเพื่อสุขภาพพร้อมปรุงหรือพร้อมทานที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ สามารถสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์ได้ และ 3.อาหารฮาลาลสำหรับผู้สูงอายุ ที่ปรุงทานได้ง่ายไม่เป็นภาระกับผู้สูงอายุ ซึ่งควรออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สามารถหยิบจับและแกะได้ง่าย
“การส่งออกอาหารฮาลาลของไทยปีนี้ขอแค่เสมอตัว จากประเทศปลายทางกำลังซื้อลดลงจากโควิดส่วนปีหน้าหากสถานการณ์ดีขึ้นน่าจะเติบโตได้ 3-5% ทั้งนี้นอกจากช่องทางส่งออกปกติแล้ว อีกช่องทางหนึ่งที่มองว่าจะสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าได้คือผ่านทางร้านอาหารไทยที่กระจายอยู่ทั่วโลกประมาณ 2 หมื่นแห่ง ที่สามารถใช้เป็นช่องทางการนำเข้าวัตถุดิบอาหารฮาลาล ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของการแข่งขันลงได้ ในอนาคตไทยมีโอกาสที่จะก้าวสู่ท็อปเทนผู้ส่งออกอาหารฮาลาลโลกได้ โดยต้องเน้นสินค้านวัตกรรม การแปรรูปเพิ่มมูลค่า และขายสินค้าที่เป็นพรีเมี่ยมมากขึ้น”
CPF-PFP ลุยต่อเนื่อง
น.สพ.ปราโมทย์ ตาฬวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า ตลาดอาหารฮาลาลของโลกมีตลาดที่ใหญ่ เฉพาะชาวมุสลิมมีมากกว่า 2,200 ล้านคน เป็นตลาดที่ยังมีกำลังซื้อและยังมีช่องทางโอกาส สำหรับอาหารฮาลาลที่ซีพีเอฟผลิตจำหน่ายในประเทศ รวมถึงส่งออกส่วนใหญ่เป็นไก่สด ไก่แปรรูป ไส้กรอก เป็นต้น ทั้งนี้ในการส่งออกต้องผ่านการตรวจรับรองโรงงานจากหน่วยงานฮาลาลของแต่ละประเทศ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เช่น การส่งออกไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เป็นต้น
“ที่ผ่านมาการส่งออกอาหารฮาลาลไทยยังเสียเปรียบประเทศมุสลิม เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เพราะตลาดปลายทางที่เป็นประเทศมุสลิมด้วยกันเขาจะซื้อจากประเทศมุสลิมด้วยกันก่อน แต่จากที่ไทยผลิตสินค้าฮาลาลที่มีความหลากหลาย เราก็ยังแข่งขันได้”
ขณะที่นายทวี ปิยะพัฒนา ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท พี.เอฟ.พี.ผู้ผลิต และจำหน่ายอาหารทะเลแช่แข็งตรา PFP กล่าวว่าปัจจุบันทางกลุ่มทำตลาดในประเทศ 60% และส่งออก 40% ไปทั่วโลกทั้งสหรัฐฯ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอื่นๆ สินค้าที่ผลิต เป็นพันรายการ โดยทุกรายการเป็นสินค้าฮาลาลทั้งหมด มองว่าหลังโคลิดคลี่คลายกำลังซื้อผู้บริโภคพื้น อาหารฮาลาลจะกลับมาขยายตัวได้มากขึ้น
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจหน้า 1 ฉบับที่ 3613 วันที่ 27-30 กันยายน 2563