“ยางพารา–ข้าว” จี้รัฐเร่งประกันรายได้

29 ก.ย. 2563 | 10:20 น.

​​​​​​​“ธีรชัย-สุเทพ” กระทุ้งรัฐ ชง ครม.ประกันรายได้ “ยางพารา-ข้าว”  ไร้วี่แวว ชี้ต้องทำตามสัญญา ขณะพืชอื่นลอยตัวไปแล้ว

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “ประกันรายได้เกษตรกร” ขึ้นปีที่2 ในสินค้าเกษตร 5 ตัวทั้ง ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา พ่วงกับมาตรการเชิงรุกสำหรับ ผลไม้ สุกร ไข่ไก่ ประมงและปศุสัตว์ อื่นๆ ซึ่งมีเกษตรกรทั่วประเทศเข้าร่วม 4,000 คน  ที่ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ พร้อมกับประกาศว่า “นโยบายประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์และนโยบายของรัฐบาล จะเดินหน้าต่อไปตราบที่ยังมีรัฐบาลชุดนี้”

 

สุเทพ คงมาก

 

 

นายสุเทพ คงมาก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ(นบข.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” อยากให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รีบเห็นชอบโครงการประกันรายได้ข้าวเปลือก 5 ชนิด ได้แก่ 1. ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคา 15,000 บาท/ตัน ไม่เกินครัวเรือนละ 14 ตัน ,2.ข้าวเปลือกหอมมะลิ นอกพื้นที่ ราคา 14,000 บาท/ตัน ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน 3.ข้าวเปลือกเจ้า ราคา 10,000 บาท ไม่เกินครัวเรือน 30 ตัน 4.ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี1 ราคา 11,000 บาท/ตัน ไม่เกินครัวเรือนละ 25 ตัน  และข้าวเปลือกเหนียว ราคา 12,000 บาท/ตัน ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน เป้าหมายเกษตรกร 4.5 ล้านครัวเรือน  วงเงินกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท

 

พร้อมกับโครงการคู่ขนาน ได้แก่ โครงการนโครงการคู่ขนานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ได้เห็นชอบไปเรียบร้อยไม่มีปัญหาดังนี้ อาทิ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (จำนำยุ้งฉาง) 2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร 3.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก 4.โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จะต้องเข้าที่ประชุม ครม.ให้เร็วที่สุด ในเมื่อรัฐบาลเกรงว่าข้าวจะราคาต่ำ ตอนนี้ ธ.ก.ส.ก็พร้อมแล้ว ซึ่งมติ นบข.ได้เห็นชอบตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค.2563 ที่ผ่านมา

 

 

“ยางพารา–ข้าว” จี้รัฐเร่งประกันรายได้

 

นายสุเทพ กล่าวในตอนท้าย ว่า “เรื่องการเมือง เรื่องอย่างอื่นก็ว่ากันไป แต่เรื่องปากท้องของชาวนาจะต้องทำให้เร็วที่สุด ถ้าประกาศวันที่ 1 ต.ค.นี้ จะต้องประกาศพร้อมกับโครงการคู่ขนานมาเลย วันนี้เริ่มเห็นสัญญาณราคาข้าวไม่ดี จะต้องรีบนำข้าวชาวนาเข้าโครงการยุ้งฉางให้เร็วที่สุด ไม่ให้ทะลักออกสู่ตลาดเพื่อที่จะพยุงราคา แล้วผมจะดูว่าโรงสีอีสานจะกดราคาข้าวชาวนาอย่างไร เพราะราคาตลาดข้าวเปลือกหอมมะลิ จะต้องไม่ต่ำกว่า 14,000 บาท/ตัน จะส่งให้ราคาข้าวสารปรับขึ้นไปที่ 2.8 หมื่นบาท-3 หมื่นบาทต่อตัน แต่ถ้าบอกว่าข้าวเปลือกอยู่ที่ 12,500 บาทต่อตัน ราคาข้าวสารจะต้องอยู่แค่ 2.5 หมื่นบาท/ตัน ถึงจะ วิน-วิน ไม่ใช่ราคาข้าวเปลือกถูก แต่ข้าวสารแพง เป็นการเอาเปรียบทั้งชาวนาและผู้บริโภค ไม่ยุติธรรม”

 

ธีระชัย แสนแก้ว


สอดคล้องกับนายธีระชัย แสนแก้ว ประธานคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กยท. ระดับประเทศ กล่าวว่า ทำไมยังไม่เข้า ครม.ก็ไม่เข้าใจ เพราะมีการแถลงนโยบายหลายรอบแล้ว ในโครงการประกันรายได้ยางพารา วงเงินกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท  มติ คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เห็นชอบตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2563 กับราคายางพารา 3 ชนิด ได้แก่ ยางแผ่นดิบ 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด ราคา 57 บาท/กิโลกรัม  และน้ำยางก้อนถ้วย ราคา 23 บาท/กิโลกรัม ไม่เกิน 25 ไร่ เป้าหมายเกษตรกร 1.83 ล้านครัวเรือน จะเริ่มเดือนตุลาคม 2563 ถึง เดือนมีนาคม 2564

 

สัมมนา “ประกันรายได้เกษตรกร” ขึ้นปีที่ 2

 

"ถึงแม้ว่าราคาจะปรับตัวดีขึ้นมาแต่ยังไม่ถึงราคาเป้าหมาย ในเมื่อยังไม่ถึงจุดมุ่งหมายเกษตรกรก็จะต้องได้ตามสัญญาที่รัฐบาลรับปากไว้ ทำตามนโยบาย หากเข้าครม.จะได้วางแผนในการจ่ายเงินชดเชยรายได้ให้เกษตรกร เพราะถึงเวลาแล้ว อย่าให้อาชีพเกษตรกรชาวสวนยางไปผสมโรงกับการเมืองยืนยัน  ยึดอาชีพไม่เกี่ยวกับกับการเมือง ไม่อยากให้พี่น้องชาวสวนยางมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อรัฐบาล เพราะที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างชาวสวนยางกับรัฐบาลเป็นไปในทิศทางที่ดี"

 

พงษ์พันธ์ จงรักษ์

 

ด้านนายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนโยบายรัฐ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)  กล่าวว่า ธ.ก.ส.พร้อม ซึ่งได้เตรียมเม็ดเงินในโครงการประกันรายได้พืช 5 ชนิด เท่าวงเงินเดิม ไม่มีปัญหา

 

ข่าวเกี่ยวข้อง

“จุรินทร์” เดินหน้าประกันรายได้ปี2  เงินถึงมือรากหญ้า 7.5 หมื่นล้าน