เชฟรอนสุดทน ลุยฟ้องอนุญาโตฯ ไม่จ่าย 4 หมื่นล้าน รื้อแท่นปิโตรเลียมรัฐ

03 ต.ค. 2563 | 05:10 น.

เชฟรอนฯ ล้มเจรจาค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียม กดปุ่มให้อนุญาโตตุลาการ นำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการพิจารณา หลังเจรจาเกือบปี ไม่ได้ข้อยุติ ยันไม่ยอมสูญกว่า 4 หมื่นล้าน วางหลักประกันค่ารื้อถอนแท่นที่รัฐนำไปใช้ประโยชน์ต่อ พลังงานพร้อมสู้คดี

 

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีก เมื่อบริษัทเชฟรอน คอร์ปอเรชั่นฯ ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของสหรัฐอเมริกา บริษัทแม่ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา เพื่อแจ้งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ให้ทราบถึงว่าเชฟรอนฯ ได้แจ้งเรื่องไปยังอนุญาโตตุลาการ เพื่อขอให้นำข้อพิพาท หาผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ เข้าสู่กระบวนการทางอนุญาโตตุลาการอีกครั้ง หลังจากที่บริษัท ได้การระงับกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการเป็นการชั่วคราว ไปเมื่อช่วดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา เพื่อให้กลับมาสู่กระบวนการเจรจาให้ได้ข้อยุติ

 

การกลับมาเจรจาดังกล่าวมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นหัวหน้าคณะทำงานร่วมกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กำหนดนระยะเวลาการเจรจาให้ได้ข้อยุติภายใน 180 วัน หรือราวสิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การเจรจาดูเหมือนจะมีความคืบหน้าในบ้างเรื่อง เช่น จำนวนแท่นผลิตปิโตรเลียมของแหล่งเอราวัณเมื่อสิ้นสุดสัมปทานในปี 2565 รัฐจะเก็บไปใช้งานต่อจำนวน 142 แท่น และจะต้องรื้อถอน จำนวน 49 แท่น (ปัจจุบันรื้อถอนไปแล้ว 7 แท่น)

 

ขณะที่การเจรจากรณีที่จะให้เชฟรอนรับผิดชอบค่ารื้อถอนรวมทั้งการวางหลักประกันค่ารื้อถอน สำหรับแท่นที่รัฐจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อนั้น ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะต่างฝ่ายถือกฎหมายกันคนละฉบับ ที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของตัวเองสูงสุด เมื่อข้อพิพาทไม่ได้ข้อยุติ จึงต้องอาศัยคนกลางเป็น ผู้ไกล่เกลี่ยต่อไป

 

 เชฟรอนสุดทน ลุยฟ้องอนุญาโตฯ ไม่จ่าย 4 หมื่นล้าน รื้อแท่นปิโตรเลียมรัฐ

 

เชฟรอนฯไม่รับข้อเสนอ

แหล่งข่าววงการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตลอดระยะเวลาเกือบจะ 1 ปี ที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีการเจรจาค่ารื้อถอนและวางหลักประกันค่ารื้อถอนที่คืนให้กับรัฐ ไม่สามารถหาข้อยุติลงได้ แม้ว่าทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะผ่อนปรนเงื่อนไขในการวางหลักประกันค่ารื้อถอน ตามสัดส่วนปริมาณปิโตรเลียมที่เชฟรอนฯ ผลิตไปแล้ว ส่วนปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่เหลือและผลิตต่อในอนาคตรัฐจะรับผิดชอบในการรื้อถอนเอง ซึ่งจะทำให้เชฟรอนฯไม่ต้องวางหลักประกันค่ารื้อถอนเต็มจำนวน 142 แท่น แต่เชฟรอนฯ ไม่รับเงื่อนไขนี้

 

ทั้งนี้ เชฟรอนฯ เห็นว่า ค่าใช้จ่าย และหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ.2559 เป็นการออกกฎหมายภายหลัง จึงไม่มีผลบังคับย้อนหลัง และรัฐบาลไม่เคยขอแก้ไขสัญญาสัมปทานเดิม เพื่อให้เป็นไปตามกฎกระทรวงที่ออกมาในภายหลัง ดังนั้น การวางหลักประกันคารื้อถอนที่คืนให้กับรัฐไปแล้ว จึงไม่มีผลบังคับใช้กับคู่สัญญา และยังเห็นว่าเมื่อรัฐนำแท่นผลิตปิโตรเลียมไปใช้ประโยชน์ต่อนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐหรือผู้รับสัมปทานรายใหม่ จะต้องรับผิดชอบ เพราะได้ส่งมอบแท่นผลิตปิโตรเลียมคืนให้กับรัฐไปแล้ว

 

ส่วนกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเห็นว่า การดำเนินการรื้อถอนแท่นที่รัฐนำไปใช้ประโยชน์ต่อ เป็นหน้าที่ผู้รับสัมปทานรายเดิม มีการระบุไว้ชัดเจนในกฎกระทรวง ที่อยู่ภายใต้พ.ร.บ.ปิโรเลียม จะต้องดำเนินการรื้อถอนและต้องวางหลักประกันค่ารื้อถอนไว้ ในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งในทะเล

ไม่ยอมเสีย4หมื่นล.

ดังนั้น เมื่อระยะเวลาล่วงเลยมา และมีแนวโน้มว่าการเจรจาจะไม่ได้ข้อยุติทางเชฟรอน จึงตัดสินใจที่จะเดินหน้าเข้าสู่กระบวน การอนุญาโตตุลาการ เพื่อให้ได้ข้อสรุป ซึ่งอาจจะใช้เวลาไม่ตํ่ากว่า 1 ปี

 

ทั้งนี้ หากเชฟรอนฯต้องรื้อถอนและวางหลักประกันในส่วนแท่นผลิตปิโตรเลียมที่รัฐนำไปใช้ประโยชน์ต่อจำนวน 142 แท่นนั้น คาดว่าจะต้องใช้เงินกว่า 4.1 หมื่นล้านบาท เป็นค่ารื้อถอน หรือต้องวางหลักประกันค่ารื้อถอนไว้เต็มจำนวนเป็นเวลาไม่ตํ่ากว่า 10 ปี ถือว่าเป็นภาระทางการเงินและไม่เป็นธรรมกับผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม

 

 

ลุยรื้อถอน 42 แท่น

แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนการรื้อถอน 42 แท่นของแหล่งเอราวัณ ที่รัฐไม่นำไปใช้ประโยชน์ต่อนั้น ทางเชฟรอนฯได้ส่งแผนการรื้อถอนเบื้องต้นและประมาณการค่าใช้จ่าย ไป ให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 โดยประเมินค่าใช้จ่ายที่จะต้องใช้กว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติแผนดังกล่าว ซึ่งหากได้รับอนุมัติ เชฟรอนฯ จะต้องมาวางหลักประกันตามจำนวนค่าใช้จ่ายที่ได้ประเมินไว้ในการรื้อถอนตามจำนวน 42 แท่น และจะต้องส่งรายงานการพิจารณาวิธีการรื้อถอนที่เหมาะสมที่สุด โดยระบุรายละเอียดโครงสร้างแท่นแต่ละประเภทจะนำไปจัดการอย่างไร จากนั้นต้องส่งแผนงานการรื้อถอนโดยละเอียดและประมาณการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนให้กรมเชื้อเพลิงพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งการรื้อถอนดังกล่าว คาดว่าจะเริ่มได้ในช่วงเดือนมีนาคม 2564

 

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ข้อพิพาทดังกล่าว ทางเชฟรอนฯได้นำกลับมาเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการอีกครั้ง หลังระงับไปเมื่อช่วงปลายปี 2562 ซึ่งขณะนี้กระทรวงพลังงาน ได้เตรียมความพร้อมในการต่อสู้คดีครั้งนี้ไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคณะดำเนินงานอนุญาโต ตุลาการขึ้นมาพิจารณา มีตัวเอง เป็นประธาน รวมทั้งตั้งที่ปรึกษาทางกฎหมายทั้งในและต่างประเทศ มาช่วยในการสู้คดี แต่ขณะนี้คงยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ว่าการดำเนินงานจะเป็นอย่างไร เพราะเกรงว่าจะเสียรูปคดี

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทางเชฟรอนฯ จะนำข้อพิพาทกลับเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ แต่ก็เปิดช่องให้มีการเจรจาของทั้ง 2 ฝ่ายเกิดขึ้นระหว่างที่อนุญาโตตุลาการพิจารณา

 

ส่วนบริษัทโททาล ยักษ์ใหญ่นํ้ามันฝรั่งเศสผู้ถือหุ้นในแหล่ง ก๊าซฯบงกช 33.3 % ซึ่งต้องวางหลักประกันค่ารื้อถอนแท่นที่ส่งคืนรัฐ 46 แท่น ตามสัดส่วนการถือหุ้นได้นำข้อพิพาทนี้เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการและได้ระงับกระบวนการไปเช่นเดียวกัน ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นเจรจา และยังไม่มีการแจ้งเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการอีกครั้ง

 

ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า ทางกระทรวงพลังงานได้เตรียมงบที่จะใช้ต่อสู้คดีนี้ไว้ราว 450 ล้านบาท ในการจ้างที่ปรึกษาทางกฎหมายทั้งในและต่างประเทศ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“เชฟรอน”แจงรื้อถอนสิ่งติดตั้งในแหล่ง “เอราวัณ” ตามสัญญาสัมปทาน