บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ เพื่อให้ได้รับความชัดเจนเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งแหล่งปิโตรเลียม “เอราวัณ” หลังส่งมอบให้กับรัฐบาลภายหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน 2565 และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) เข้ามาผลิตต่อในสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC)
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เรื่องดังกล่าวนี้อยู่ในกระบวนการทางกฏหมาย ทางกระทรวงไม่สามารถให้ข้อมูลอะไรได้มากในเวลานี้ โดยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังาน ในฐานะประธานคณะกรรมการปิโตรเลียม ได้มีการตั้งคณะทำงานเจรจา หากกรณีที่ ปตท.สผ.ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้เพื่อผลิตได้ต่อเนื่องหลัง เชฟรอนฯ หมดสิ้นสุดอายุสัมปทาน
ทั้งนี้ ทางกระทรวงฯ ก็มั่นใจว่าได้เตรียมเชื้อเพลิงไว้อย่างเพียงพอ ไม่ขาดแคลน ซึ่ง ปตท.มีสถานีรับ-ส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (RECEIVING TERMINAL LNG) ไว้รองรับแล้ว ขอให้มั่นใจว่าจะมีก๊าซฯ เพียงพอรองรับการผลิตไฟฟ้าและอื่น ๆ ไม่ขาดแคลนแน่นอน
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. กล่าวว่า ขณะนี้ยังเชื่อว่า ปตท.สผ.บริษัทในเครือ ปตท.จะยังเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ เพื่อผลิตก๊าซฯ ได้ตามกำหนด เพราะทุกฝ่ายทั้งกระทรวงพลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ปตท.สผ.และเชฟรอนฯ ก็อยู่ระหว่างการเจรจาหาทางออกร่วมกัน ซึ่งในฐานะที่ ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจดูแลความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ก็จะบริหารจัดการไม่ให้เกิดความขาดแคลนแต่อย่างใด
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ.กล่าวว่า บริษัทจะสามารถผลิตก๊าซฯ ในแหล่งเอราวัณ หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานของเชฟรอนฯ ได้ตามเป้าหมายที่กระทรวงพลังงานกำหนด คือ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยขณะนี้ท่าทีระหว่าง ปตท.สผ.และเชฟรอนฯ ได้มีการเจรจาหารือกันบ่อยครั้งขึ้น เบื้องต้นทาง ปตท.สผ.ได้เข้าพื้นที่ได้บางส่วน เพื่อเตรียมพร้อมในการทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ ) สำหรับการติดตั้งแท่นผลิตใหม่ระยะแรก 8 แท่น วงเงินลงทุนประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต้องเริ่มติดตั้งกลางปี 2564 ดังนั้น จึงขออนุญาตเชฟรอนเพื่อนำแท่นทั้ง 8 แท่นนี้เข้าไปติดตั้งในแหล่งเอราวัณ และคาดว่าจะบรรลุข้อตกลงเข้าพื้นที่ (Site Access Agreement) ระยะที่ 2 กับ เชฟรอนฯ ได้ในเร็ว ๆ นี้
“การที่เชฟรอนฯ เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการไม่ใช่เรื่องฟ้องร้อง แต่เป็นการหาคนกลางมาไกล่เกลี่ยในเรื่องที่กระทรวงพลังงานและเชฟรอนฯ มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน เรื่อง หน้าที่ความรับผิดชอบในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่จะส่งมอบให้กับรัฐบาลภายหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง ซึ่งมีทั้งหมด 142 แท่น”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เชฟรอนสุดทน ลุยฟ้องอนุญาโตฯ ไม่จ่าย 4 หมื่นล้าน รื้อแท่นปิโตรเลียมรัฐ
“เชฟรอน”แจงรื้อถอนสิ่งติดตั้งในแหล่ง “เอราวัณ” ตามสัญญาสัมปทาน
เชฟรอนฯ เดินหน้า จัดวาง ปะการังเทียมจากขาแท่น อีกบทพิสูจน์รื้อถอนปิโตรเลียม