เอสเอ็มอียังสาหัส เลวร้ายสุดติดลบ 9.5%

07 ต.ค. 2563 | 05:17 น.

เอสเอ็มอี ยังไม่โงหัว ส่งออกติดลบต่อเนื่อง สสว.ประมาณการเศรษฐกิจของเอสเอ็มอีปีนี้ เลวร้ายสุดจะติดลบ 9.5 %

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ได้ส่งผลกระทบต่อ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ของไทยอย่างหนัก ตัวเลข ผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพีของเอสเอ็มอีไตรมาส 2 ปีนี้ ปรับตัวลดลงมา 17.2 %  มีมูลค่า 1.44 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีของประเทศ 32.9 % ลดลงจากไตรมาสแรกของปีนี้ที่เคยอยู่ที่ระดับ 34.9 % 

 

เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบมากสุด ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคบริการ เช่น ธุรกิจบริการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ และธุรกิจบริการด้านศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง และสาขาอุตสาหกรรม

 

สอดรับกับผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ของ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือสสว.พบว่า ปัญหาการดำเนินธุรกิจที่เอสเอ็มอี เผชิญมากที่สุดในเวลานี้ เป็นเรื่องของยอดขายและลูกค้าที่ลดลงต่อเนื่อง มีต้นเหตุมาจาก การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากสุด อยู่ในกลุ่มการขนส่งมวลชน (ไม่ประจำทาง) โรงแรม/เกสต์เฮาส์/บังกะโล ผลิตภัณฑ์โลหะ เป็นต้น

 

รองลงมาเป็นเรื่องของ ต้นทุนของกิจการเพิ่มสูงขึ้น ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากสุด อยู่ในกลุ่มร้านอาหาร/ภัตตาคาร ไม้และเฟอร์นิเจอร์ การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ที่เกิดจากค่าสินค้าและวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้น การขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น

เอสเอ็มอียังสาหัส เลวร้ายสุดติดลบ 9.5%

 

ขณะที่ยอดการส่งออกไปยังตลาดหลักหดตัวต่อเนื่องเดือนกรกฎาคม มี มูลค่าส่งออกเพียง 69,783 ล้านบาท ลดลงจากช่วยเดียวกันของปีก่อน 14.7 % ขณะที่มูลค่าการส่งออกของเอสเอสเอ็มอีในช่วง 7 เดือนปีนี้ หดตัว 18.2 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่า 4.76 แสนล้านบาท  โดยปี 2562 เอสเอ็มอีมีการส่งออกคิดเป็นมูลค่า 1.02 ล้านล้านบาท

 

ทั้งนี้ สสว.ชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศ จะฟื้นตัวได้บ้าง จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และการบริโภคของภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้บางส่วน แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีความรุนแรงและยาวนานกว่าที่คาดไว้ จะส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนจะยังหดตัว มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเห็นได้จากตัวเลขในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้รายงานการบริโภคภาคเอกชนหดตัว 1.1 % มากขึ้นกว่าเดือนกรกฎาคม 2563 และการลงทุนของภาคเอกชนหดตัวลง 4.6 % เป็นต้น ทำให้ ประมาณการเศรษฐกิจของเอสเอ็มอีปีนี้ จะปรับตัวลดลงอยู่ระหว่าง -8.5 % ถึง -9.5 % จากที่เคยประมาณการไว้ก่อนหน้าลดลง -4.3 % โดยในปี 2562 จีดีพีเอสเอ็มอีมีมูลค่าอยู่ที่ 5.96 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีรวมของประเทศอยู่ที่ 35.3 %

 

ตัวเลขประมาณการดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า หากภาครัฐไม่มีมาตรการต่างๆเข้ามาช่วยเหลือจะส่งผลให้เอสเอ็มอีอยู่ในภาวะที่ลำบาก และมีแนวโน้มปิดกิจการมากขึ้น จากช่วง 7 เดือน ที่ผ่านมาได้มีการปิดกิจการไปแล้วราว 7,488 ราย

 

ดังนั้น เพื่อความอยู่รอดของเอสเอ็มอีเอง สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดเวลานี้ จะเป็นเรื่องของการจัดสรรเงินเยียวยาเพิ่มเติมให้แก่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ การขยายระยะเวลามาตรการเงินเยียวยาธุรกิจ และ มาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยตํ่าที่เข้าถึงได้ง่าย (ไม่ต้องมีหลักคํ้าประกัน ไม่มีดอกเบี้ย) เพราะที่ผ่านมาไม่สามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐได้ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้มีเม็ดเงินเข้ามาเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจให้ยาวนานขึ้น และสามารถรักษาการจ้างงานได้คงอยู่ต่อไปได้

 

รวมทั้งให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือด้านการลดต้นทุน ค่าใช้จ่าย ในการดำเนินงานธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการควบคุมราคาค่าสินค้าและวัตถุดิบ การขยายเวลาลดค่านํ้าค่าไฟฟ้า เงินอุดหนุนค่าจ้างแรงงาน  และ การพักชำระหนี้ออกไป ซึ่งหากภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือในมาตรการต่างๆ ที่เสนอไป ก็หวังว่าธุรกิจจะกลับมาเดินหน้าต่อไปได้  เพราะยังมีความเชื่อมั่นว่าระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ จากมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินลงไป จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้กลับคืนมาได้บ้าง