จากกรณีเกิดเหตุท่อส่งก๊าซของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ “ปตท.” ระเบิด (ท่อแก๊สระเบิด) บริเวณข้างโรงเรียนเปร็งวิสุธาธิบดี หมู่ 4 ตำบลเปร็ง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต จำนวน 3 ราย บาดเจ็บ 50 ราย บ้านพักอาศัยของประชาชนได้รับเสียหาย 34 หลังคาเรือน รถยนต์ได้รับความเสียหาย จำนวน 62 คัน รถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหาย จำนวน 59 คัน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม
แน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดความวิตกกังวลต่อประชาชนผู้มีที่พักอาศัยอยู่ใกล้กับแนวของท่อส่งก๊าซของ ปตท. โดยจากข้อมูลพบว่าท่อก๊าซเป็นเครือข่ายทั่วประเทศ ความยาวกว่า 3,000 กิโลเมตร และท่อก๊าซหลักบนบก ความยาวประมาณ 2,641 กิโลเมตร และเส้นที่เกิดอุบัติเหตุเป็นท่อก๊าซเส้นที่ 2 ซึ่งผ่านการใช้งานมาตั้งแต่ปี 2539
ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลกิจการพลังงานทั้งไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ อย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) นั้น นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยว่า ในวันนี้ (28 ตุลาคม 2563) เวลา 09.00 น. กกพ. จะมีการประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย โดยอาจจะมีการพิจารณาออกกฎระเบียบกฎเกณฑ์กำกับดูแลเพิ่มเติมในอนาคต เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน
“หลังเกิดเหตุได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับผู้ประสบเหตุโดยตรง ทำให้ได้ข้อมูลที่น่าสนใจกลับมามากมาย และคงจะนำไปหารือในองค์ประชุมของ กกพ. ร่วมกัน ซึ่งเรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นวาระสำคัญวาระหนึ่งในการประชุมที่มีกว่า 50 วาระในต่ละครั้งของการประชุม”
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ปัจจุบันที่ กกพ. กำกับดูแลท่อก๊าซฯ อยู่ ได้แก่ มาตรฐานทางวิศวกรรม มาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"สภาวิศวกร" เปิด 2 ปัจจัยทำ “ท่อแก๊สระเบิด”