รฟท.จับมือ ไชน่า เรลเวย์ ลงนามสัญญา 2.3 ไฮสปีดไทย-จีน

28 ต.ค. 2563 | 09:15 น.

รฟท.-ไชน่าเรลเวย์ เดินหน้าไฮสปีดไทย-จีน ลงนามสัญญา 2.3 วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ลุยงานระบบราง จัดหาขบวนรถไฟ-ฝึกอบรมบุคลากร เตรียมแบ่งสัญญาออกเป็น 3 ช่วง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (28 ตุลาคม 2563) เวลา 15.00 น. พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีลงนามในสัญญา 2.3 จ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหา ขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร สัญญา 2.3 ของโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับบริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์แนชันนัล จำกัด และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ ดีไซน์ คอร์ปอเรชั่น รัฐวิสาหกิจจีน

รฟท.จับมือ ไชน่า เรลเวย์ ลงนามสัญญา 2.3 ไฮสปีดไทย-จีน

พล.อ.ประยุทธ์   จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า  รู้สึกยินดีเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญให้เป็นปรานพิธีในการลงนามสัญญา จ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหา ขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร สัญญา 2.3 ของโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับบริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์แนชันนัล จำกัด และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ ดีไซน์ คอร์ปอเรชั่น รัฐวิสาหกิจจีน โครงการนี้ถือเป็นโครงการสำคัญที่รับบาลไทยได้ผลักดันเสมอมา ซึ่งช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศและกลไกการพัฒนาประเทศและในภูมิภาค โดยเฉพาะหัวเมืองหลักของรถไฟความเร็วสูง ซึ่งสามารถต่อยอกพัฒนาเป็นเมืองศูนย์กลางของภูมิภาค  

 

ทั้งนี้เส้นทางดังกล่าวยังเปรียบเสมือนสายใยระหว่างประเทศไทยและจีนให้แน่นแฟ้นกันมากขึ้น รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงทางคมนาคม ตลอดจนส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนทั้ง 2 ประเทศ โดยการร่วมลงนามสัญญาระบบ2.3 ระหว่างไทยและจีนถือเป็นโอกาสดีที่ไทยและจีนจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีร่วมกันให้ก้าวเดินเคียงกันไปได้อย่างพร้อมเพรียง

 

“ผมเชื่อมั่นว่าไทยจะนำองค์ความรู้ในการพัฒนาเทคโนโลยีนั้นมาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน  ประเทศ และภูมิภาคต่อไป”

รฟท.จับมือ ไชน่า เรลเวย์ ลงนามสัญญา 2.3 ไฮสปีดไทย-จีน

สำหรับสาระสำคัญของร่างสัญญา 2.3 ที่จะมีการลงนามนั้น เป็นสัญญาการจ้างรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นตัวแทนแห่งประเทศจีนที่มีประสบการณ์ตรงด้านการพัฒนารถไฟความเร็วสูงที่ได้รับการรับรองคุณภาพและประสิทธิภาพจาก National Development and Reform Commission แห่งประเทศจีน (CHINA RAILWAY INTERNATIONAL CO., LTD. และ CHINA RAILWAY DESIGN CORPORATION) มาเป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง ติดตั้งงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ระบบรถไฟความเร็วสูง จัดหาขบวนรถไฟ และฝึกอบรมบุคลากร  ระยะเวลาเริ่มต้นของสัญญาแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 1.การเริ่มต้นงานออกแบบระบบรถไฟความเร็วสูง และออกแบบระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนออกแบบขบวนรถไฟ  2.การเริ่มต้นงานฝึกอบรมบุคลากรเพื่อการเดินรถและซ่อมบำรุง และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และ 3.การเริ่มต้นงานก่อสร้าง ติดตั้งงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ระบบรถไฟความเร็วสูงที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาสิ้นสุดสัญญา 64 เดือน 

 

ทั้งนี้โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) วงเงิน 179,412.21 ล้านบาท ระยะทาง ระยะทาง 253 กม. โดยมีแนวเส้นทางผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด มี 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา และระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 354.5 กม

 

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า สำหรับโครงการช่วงที่ 1 ได้เสนอขอความเห็นชอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แบ่งเป็น ช่วงกรุงเทพฯ-บ้านภาชี ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 ช่วงบ้านภาชี-นครราชสีมา ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และผ่านความเห็นชอบจาก กก.วล. เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา เมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จและคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการในปี 2568 จะเป็นการยกระดับมาตรฐานรถไฟไทย ให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นการลงทุนเพื่อวางรากฐานความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยในระยะยาว สนับสนุนให้ประเทศเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค สร้างโอกาสใหม่ทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว กระจายรายได้ นำความเจริญสู่ท้องถิ่นตลอดแนวเส้นทางโครงการ นอกจากนี้ยังทำให้บุคลากรของประเทศไทยได้รับความรู้และเทคโนโลยีระบบรางจากจีนต่อยอดองค์ความรู้ต่อไปในอนาคต โดยการรถไฟฯ อยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบรายละเอียดงานโยธา ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ระยะทาง 354.5 กิโลเมตร เชื่อมไทย-ลาว-จีน และหลังจากที่ก่อสร้างทั้ง 2 ระยะแล้วเสร็จ ก็จะเป็นการเปิดเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมโยงไทย จีน และเอเชียให้เป็นหนึ่งเดียวกัน