เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดภูเก็ต คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ประกันรายได้ข้าว พ่วงโครงการคู่ขนาน วงเงินรวม 51,858 ล้านบาท แล้ว ยังมีเงินสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 จะเริ่มเดือนพฤศจิกายน 2563 เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ช่วยให้เกษตรกรมีกำลังใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว โดยในช่วงแรกเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารงบประมาณของรัฐบาล จะจ่ายเงินให้เกษตรกร ที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 ในรอบแรกเบื้องต้น อัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ รับเงินสูงสุด 10,000 บาท มีความคืบหน้าตามลำดับ
แหล่งข่าวจากธนาคารการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ธ.ก.ส. นำเสนอคณะกรรมการบอร์ด ธ.ก.ส. ก่อน เพราะโครงการดังกล่าวนี้ เป็นโครงการใหม่ที่มาขอใช้เงิน ธ.ก.ส. เดิม จากปีที่แล้วรัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาให้ ธ.ก.ส.จ่ายตรงกับชาวนา ความจริงทางธนาคารเองก็มีเตรียมการสำรองเงินบางส่วนที่จะนำไปใช้ในกิจการของธนาคารเอง ในเรื่องการอำนวยสินเชื่อต่างๆ แต่ว่าในโครงการนี้จะมาขอเงิน ธ.ก.ส.มาจ่าย ซึ่ง ทาง ธ.ก.ส.เองไม่ได้ขอบอร์ดไว้ก่อน ดังนั้นจะต้องรอบอร์ดว่าจะเห็นชอบหรือไม่ ในวันที่ 26 พ.ย.นี้
“ธ.ก.ส.จะต้องมาพิจารณาว่าสภาพคล่องมีเพียงพอหรือไม่ เพราะเราเองจะเตรียมเงินไว้สำหรับโครงการประกันรายได้ 5 พืช พ่วงโครงการคู่ขนาน อีกด้านหนึ่งก็ต้องให้สินเชื่อในการดำเนินธุรกิจของธนาคารด้วย จะนำงบประมาณมาให้รัฐบาลอย่างเดียวก็คงไม่ใช่ แต่คาดว่าบอร์ดไม่น่าจะมีปัญหาคงอนุมัติเหลือครึ่งหนึ่งกว่า 2 หมื่นล้าน พอจ่ายไหว แต่ถ้าของเดิม เดิมจะจ่ายไร่ละ 1,000 บาท รับสูงสุด 20,000 บาท ใช้วงเงิน 5.4 หมื่นล้านบาท ก็คงไม่ไหว สูงเกินไป แต่ถ้าจะให้จ่ายรัฐบาลต้องหาเงินกู้มาให้จ่าย อย่างนี้พอมีความเป็นไปได้ แต่จะให้ ธ.ก.ส.มากู้เอง เพื่อรัฐจะจ่ายชาวนา ก็คงจะไม่ได้ ทำแบบนี้คณะกรรมการบอร์ด ธ.ก.ส.จะเอาด้วยไหม เพราะอยู่ดีก็มาเพิ่มภาระให้”