ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG เปิดเผยถึงผลผลการดำเนินงานไตรมาส 3/63 ว่า บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 1.184 พันล้านบาท ลดลง 0.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้รวม 1.187 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 767.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 648.6 ล้านบาท
ส่วนผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 บริษัทมีรายได้รวมจำนวน 3.813 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้รวม 3.794 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิรวม จำนวน 2.351 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.4% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 2.168 พันล้านบาท
สำหรับรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้นนั้น มาจากธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์ฟาร์ม ทั้ง 36 โครงการ รวมกำลังการผลิตกว่า 260 เมกะวัตต์ ที่ในงวด 9 เดือนนี้ จำนวนกระแสไฟฟ้าที่ผลิตและจำหน่ายได้จากทั้ง 36 โครงการ มีจำนวน 292.7 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 1% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับ บริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด หรือ “SPR” (บริษัทในเครือ SPCG) ผู้นำด้านการออกแบบและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Power Roof System) มีรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน
ซึ่งบริษัทเดินหน้าขยายการติดตั้งอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการติดตั้งไปแล้วกว่า 100 เมกะวัตต์ ทั้งนี้บริษัทได้มีการปรับเปลี่ยนแผนการตลาดและกลยุทธ์ในการขายอยู่ตลอด เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและทางเลือกให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่มอาคารพาณิชย์ และ กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ที่ยังคงให้การตอบรับเป็นอย่างดี เพราะเมื่อลูกค้าติดตั้งระบบโซลาร์รูฟของบริษัทแล้ว ต่างเห็นผลลัพธ์ที่ดี สามารถลดค่าไฟได้ทันทีเมื่อติดตั้ง อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน ทำให้กิจการของลูกค้ามีกำไรเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี บริษัทได้มีนโยบายการบริหารจัดการต้นทุนด้านต่างๆ และควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยในปี 2563 บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ทั้งปีไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท
ส่วนความคืบหน้าของโครงการโซลาร์ฟาร์ม Ukujima ประเทศญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิตรวม 480 เมกะวัตต์ ที่เป็นการร่วมทุนของ 8 บริษัท ได้แก่ มีผู้ร่วมลงทุนได้แก่ Kyocera Corporation, Kyudenko Corporation, Tokyo Century Corporation, Furukawa Electric Company Limited และ Tsuboi Corporation งบการลงทุนประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ตอนนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โครงการดังกล่าวจะได้รับอัตรารับซื้อไฟฟ้า Feed-In tariff (FiT) ที่ 40 เยนต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 17 ปี 3 เดือน โดยจะทำการขายไฟให้แก่บริษัท Kyushu Electric Power Co, Inc.
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการโซลาร์ฟาร์มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่เคยมีมา ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 17.92% หรือคิดเป็นเงินจำนวน 9,000,000,000 เยน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) และสามารถรับรู้รายได้ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป
นอกจากนี้บริษัทยังคงมองหาการลงทุนโครงการใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัท โดยจะเน้นไปที่พลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก ทั้งนี้ได้ตั้งงบลงทุน 5 ปี (2564 - 2568) ไว้ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับโครงการด้านพลังงานของบริษัทในอนาคต โดยได้ตั้งเป้าหมายในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2568) จะมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 1,000 เมกะวัตต์ และภายในปี 80 ไม่ต่ำกว่า 3,000 เมกะวัตต์