เลื่อนยาว!! รฟม.เบรกเปิดซองประมูล "สายสีส้ม"

17 พ.ย. 2563 | 08:52 น.

รฟม.เดินหน้ายื่นคำให้การฯ คดีแก้ทีโออาร์โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังศาลปกครองฯ นัดไต่สวนผลอุทธรณ์ ไม่คืบ จ่อเลื่อนเปิดซองประมูลไม่มีกำหนด

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังศาลปกครองนัดไต่สวน กรณีรฟม.ยื่นอุทธรณ์ หลังจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว กรณีที่ ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองฉุกเฉิน กรณีคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ได้ปรับหลักเกณฑ์ประมูลโครงการดังกล่าว ภายหลังเปิดขายซองข้อเสนอไปแล้ว ถือเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย. เบื้องต้นทางคณะกรรมการมาตรา 36 และรฟม.ได้พิจารณาและยืนยันตามศาลปกครองชั้นต้นที่ได้ชี้แจงเพิ่มเติม หลังจากนี้จะต้องรอฟังคำสั่งศาลฯอีกครั้งว่าเป็นอย่างไร โดยกำหนดให้ชะลอการเปิดซองประมูลโครงการฯในซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติ ออกไปก่อนจนกว่าศาลฯจะมีคำสั่ง จากเดิมกำหนดเปิดซองที่ 1 ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 หลังจากนั้นจะเปิดซองที่ 2 ด้านข้อเสนอทางเทคนิค ภายใน 1-2 เดือน นับจากวันที่เปิดซองแรกแล้วเสร็จ

 

"ขณะเดียวกันศาลฯมีคำสั่งนัดไต่สวนเมื่อไรนั้นยังไม่ทราบ เพราะเราคงไม่กล้าก้าวล่วงอำนาจของศาลฯ หากศาลฯ มีการนัดไต่สวนเมื่อไร จะมีหมายเรียกอีกครั้ง"

นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า กรณี BTSC ได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองฉุกเฉิน กรณีคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ได้ปรับหลักเกณฑ์ประมูลโครงการดังกล่าว ภายหลังเปิดขายซองข้อเสนอนั้น จะเป็นไปตามกระบวนการของศาลฯ ขณะนี้รฟม.อยู่ระหว่างดำเนินการเตรียมคำให้การเพื่อยื่นเอกสารเพิ่มเติม ซึ่งเป็นไปตามสิทธิที่รฟม.ได้อุทธรณ์ เนื่องจากศาลฯยังไม่ได้เพิกถอนกรณีที่มีการปรับหลักเกณฑ์การประมูลโครงการฯ ใหม่เพียงแค่ให้ทุเลาการใช้หลักเกณฑ์ฯเท่านั้น ส่วนการเปิดรับซองข้อเสนอในการประมูลโครงการฯนั้น มีระยะเวลายื่นข้อเสนอภายใน 270 วัน นับตั้งแต่วันที่ยื่นซอง ตามเอกสารการประกาศประกวดราคา (RFP) หากดดีดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด เชื่อว่าไม่น่าเป็นปัญหา

 

สำหรับศาลปกครองกลางได้มีการนัดไต่สวน คดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือบีทีเอส (ผู้ฟ้องคดี) กับคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไปแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ประเด็นของการฟ้อง บีทีเอสในฐานะผู้ฟ้องคดี ยังคงยืนยันคำฟ้อง 2 ส่วน คือ 1.ขอให้ยกเลิกเอกสารเพิ่มเติม ตามการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ประกาศออกมานอกเหนือจากเอกสารยื่นข้อเสนอ (RFP) ซึ่งมีผลทำให้ปรับหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอเอกสาร จากเดิมพิจารณาข้อเสนอด้านราคา 100 คะแนน เป็นพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนน และด้านราคา 70 คะแนน และ 2.ขอคุ้มครองฉุกเฉินชั่วคราว จนกว่าศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งตัดสินคดี โดยประเด็นคำฟ้องดังกล่าว เนื่องจากบีทีเอสเห็นว่าการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ภายหลังประกาศขาย RFP ไปแล้วนั้น ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียบเปรียบ ไม่เป็นธรรม อีกทั้ง รฟม.ยังดำเนินการขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามที่อนุมัติเห็นชอบให้เปิดประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้ม และได้มีมติเห็นชอบถึงหลักเกณฑ์การคัดเลือกในรูปแบบเดิมแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา รฟม.ได้ประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท ทั้งนี้ มีเอกชนให้ความสนใจติดต่อขอซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนฯ ตั้งแต่วันที่ 10 - 24 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมานั้น จำนวนทั้งสิ้น 10 ราย ซึ่ง รฟม. ได้กำหนดเปิดรับซองข้อเสนอในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ทั้งนี้ได้มีบริษัทยื่นซองข้อเสนอการร่วมลงทุนฯ จำนวน 2 กลุ่ม ดังนี้

1. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

2. กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ประกอบด้วย 1) บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 2) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) 3) บริษัท ซิโน – ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)