นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมการดำเนินงานสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ว่า ได้มอบนโยบายให้สบน. ศึกษาแนวทางการกู้เงินจากต่างประเทศ เพื่อกระจายแหล่งเงินกู้ เนื่องจากหลังจากช่วงโควิด-19 ความต้องการเงินกู้ในประเทศของภาคเอกชนอาจสูงขึ้น
ทั้งนี้การกู้เงินจากต่างประเทศนั้น ให้เน้นการกู้จากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ไม่ใช่เป็นการกู้จากตลาดเงินในต่างประเทศ ซึ่งต้นทุนการกู้ระหว่างในประเทศกับต่างประเทศไม่มีความแตกต่างกันมากนัก
"การกู้จากต่างประเทศขอให้เน้นในการใช้เงินกู้ใน 4 เรื่องสำคัญ คือ การกู้จากต่างประเทศ จะต้องใช้ในโครงการที่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูง เป็นการกู้มาใช้ในสาขาที่ประเทศต้องการ คือ ด้านเทคโนโลยี และดิจิตอล หรือด้านระบบขนส่งมวลชน เน้นการลงทุนในโครงการที่เป็น green economy และโครงการลงทุนเชิงสังคม ที่เน้นด้านสุขภาพอนามัย ซึ่งมีโอกาสที่ประเทศไทยจะพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในอนาคต" นายอาคม กล่าว
นายอาคม กล่าวว่า การกู้จากต่างประเทศนั้น ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะแม้ประเทศจีนที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว ก็ยังมีการกู้จากต่างประเทศ เพราะต้องการการนำเข้าเทคโนโลยี ซึ่งสถาบันระหว่างประเทศ ยังมองว่าไทยมีการลงทุนน้อย ดังนั้น การกู้เงินเพื่อนำมาพัฒนาประเทศจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติ
อย่างไรก็ตามในปีงบประมาณ 2564 นี้ สบน. ยังไม่มีแผนกู้เงินจากต่างประเทศเพิ่ม หลังจากที่กู้เงินลงนามการกู้เงินจากธนาคารพัฒนาเอเชียในวงเงิน 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว เพื่อนำมาดูแลสถานการณ์โควิด-19
สำหรับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของรัฐบาลอยู่ที่ 49.34% ในปัจจุบัน ยังต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ที่ไม่เกิน 60%และแม้ว่ารัฐบาลได้ออกพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทแล้วก็ตาม ในปีหน้าและระยะ 5 ปีข้างหน้าหนี้ต่อจีดีพีก็ยังไม่เกินกรอบที่กำหนด
อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้ต่อ จีดีพียังขึ้นอยู่กับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจด้วย หากการขยายตัวต่ำ ก็จะทำให้หนี้ต่อจีดีพีสูงขึ้น ซึ่งในปีหน้า คาดว่าจีดีพี จะขยายตัว 4% และในช่วง 5 ปี คาดว่าจะขยายตัว 3-5%