รายงานข่าวระบุว่า กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ได้ดำเนินการเปิดศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการขยะครบวงจร ชุมชนเกาะกลาง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะกลางคลองพระโขนง โดยเป็น "ชุมชนบนเกาะ" เพียงแห่งเดียวของกรุงเทพฯ โดยจะเปิดให้ชุมชนและหน่วยงานต่างๆ เข้ามาศึกษาดูงาน เพื่อนำแนวทางไปปรับใช้ ช่วยหยุดขยะต่างๆ ไม่ให้หลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ชุมชนเกาะกลางเป็นชุมชนเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ในเขตคลองเตย มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 270 คนใน 58 หลังคาเรือน บนเนื้อที่เกาะประมาณ 3 ไร่ กลางคลองพระโขนง โดยเป็นพื้นที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ปัจจุบันเป็นตัวอย่างนำร่องของชุมชนจัดการตนเอง โดยใช้ชีวิตอย่างพอเพียง สร้างอาชีพในครัวเรือน ผลิตสินค้าใช้เองบนเกาะเพื่อลดรายจ่าย และยังให้ความสนใจในการรักษาสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดทำโครงการจัดการขยะครบวงจร เพื่อสร้างรายได้เสริม และเพิ่มเติมสวัสดิการในชุมชนจากการขายขยะ พร้อมต่อยอดเป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อขยายผลสู่ชุมชนอื่นๆ
“กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย มีเป้าหมายด้านความยั่งยืนในการต้านโลกร้อน หยุดขยะพลาสติก และ ส่งเสริมวงจรรีไซเคิลเพื่อสนับสนุนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน( Circular Economy) ผ่านการสร้างต้นแบบและความร่วมมือกับหน่วยงานและชุมชนที่มีแนวคิดแบบเดียวกัน”
อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือของ Dow กับ สำนักงานเขตคลองเตยและสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการบรรจุภัณฑ์มาเป็นผู้ให้คำปรึกษาในการทำโครงการ โดยได้ร่วมกับชุมชนออกแบบโครงสร้างการบริหารจัดการขยะ ออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ตามประเภทของขยะที่เกิดขึ้นในชุมชน ประกอบด้วย 1.กลุ่มการจัดการขยะอินทรีย์ 2.การจัดการวัสดุรีไซเคิล 3.การจัดการขยะทั่วไป 4.การจัดการขยะอันตราย โดยมีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการจัดจำหน่าย หรือส่งต่อให้กับสำนักงานเขตคลองเตยเพื่อกำจัดอย่างถูกวิธี โดยเริ่มดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 เป็นต้นมา
“Dow ได้ร่วมกับ TIPMSE เข้าไปสนับสนุนและส่งเสริมองค์ความรู้ในการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร ทั้งการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ประเภทของพลาสติก วิธีการคัดแยกชนิดของพลาสติกที่ถูกต้องตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงกระบวนการรีไซเคิล รวมถึงวางระบบการแยกขยะให้ชัดเจนขึ้น ปรับปรุงพื้นที่ให้เรียบร้อยเหมาะสมแก่การแยกขยะ รวมถึงประสานงานกับองค์กรต่างๆที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการรับซื้อขยะ ไปสู่กระบวนการใช้ประโยชน์ในภาคส่วนต่างๆ ซึ่งขณะนี้ Dow อยู่ระหว่างประสานกับ เขตคลองเตย เพื่อวางระบบการเข้ารับขยะพลาสติกยืด สะอาด ที่ชุมชนได้แยกไว้แล้ว เพื่อสามารถนำกลับมารีไซเคิลสู่กระบวนการผลิต”
นอกจากนี้ Dow ยังได้ร่วมกับชุมชนวางระบบโครงสร้างทางบัญชี เพื่อให้การจัดสรรรายได้กระจายให้ถึงทุกคนในชุมชน ภายใต้โครงการดังกล่าว โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ รายได้จากการขายขยะ และ รายได้จากการให้บริการจัดการเข้ามาศึกษาดูงานจากหน่วยงานและชุมชนอื่นๆ ขณะเดียวกันยังได้นำนวัตกรรมเข้ามาอำนวยความสะดวกในสื่อสารราคารับซื้อและจัดเก็บรวบรวมข้อมูลการซื้อขายขยะในชุมชน ด้วยแอพพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า O.K. Recycle
นายสินชัย เทียนศิริ ผู้อำนวยการ TIPMSE กล่าวว่า TIPMSE หน่วยงานที่ส่งเสริมการจัดการบรรจุภัณฑ์มา
กว่า 15 ปี ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของชุมชนเกาะกลาง ว่าสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจ เพราะนอกจากเป็นพื้นที่เกาะ ยังเป็นพื้นที่ในชุมชนเมืองที่โดยปกติแล้ว จะมีความยากในบริบทของการส่งเสริมการจัดการขยะ ด้วยทั้งข้อจำกัดเรื่องสถานที่ที่คับแคบ และอุปนิสัย ความเคยชินของคนเมืองที่ส่วนใหญ่จะไม่ให้ความสำคัญกับการคัดแยกอย่างจริงจัง
ดังนั้น พื้นที่ใดที่ต้องการเรียนรู้รูปแบบของชุมชนที่มีข้อจำกัดอย่างมากมาย แต่ก็ยังสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม ก็สามารถมาเรียนรู้ได้จากเกาะกลางแห่งนี้ ที่ซึ่ง DOW และ TIPMSE มาร่วมด้วยช่วยกันกับหน่วยงานในพื้นที่พัฒนาให้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้อีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจ
นายประเทืองวิทย์ ใจดี ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตคลองเตย กล่าวว่า ชุมชนเกาะกลางได้มีการจัดการขยะมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการคัดแยกขยะและนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ แต่การบริหารจัดการอาจจะยังไม่ครอบคลุมหรือไม่ครบถ้วนตามขั้นตอนอย่างเป็นระบบ การเข้ามาสนับสนุนของกลุ่ม ดาว ประเทศไทย เป็นสิ่งที่ดีและเป็นการต่อยอดในสิ่งที่ชุมชนได้ทำมาโดยตลอด สำนักงานเขตคลองเตยยินดีให้การสนับสนุนในการทำกิจกรรมต่าง ๆ และศูนย์การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ ได้เข้ามาศึกษาดูงาน และนำไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ และเป็นการลดปริมาณขยะที่แหล่งกำเนิด สู่ชุมชนปลอดขยะต่อไป
จากการสำรวจข้อมูลชนิดขยะที่เกิดขึ้นในชุมชนเกาะกลาง พบว่ามีขยะประเภทอินทรีย์ 31 % วัสดุรีไซเคิล 41% ขยะทั่วไป 27 % และขยะอันตราย 1% ซึ่งหากคัดแยกส่วนที่ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด คาดว่าจะช่วยลดปริมาณขยะที่ไปสู่หลุมฝังกลบได้กว่า 4 ตัน จาก 18 ตัน ในช่วงแรกของการดำเนินงาน ซึ่งคิดเป็นกว่าร้อยละ 20 โดยขยะอินทรีย์ได้นำไปทำก๊าซชีวภาพ ปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ ส่วนวัสดุรีไซเคิลนำไปขายสร้างรายได้ สำหรับขยะทั่วไปจะเน้น 3 อาร์ โดยส่งเสริมแนวคิดการใช้เท่าที่จำเป็น และการใช้ซ้ำ รวมถึงการนำไปประดิษฐ์หรือเปลี่ยนรูปร่างเพื่อใช้งานในรูปแบบอื่นๆ
“จากขยะทั้งหมดพบว่ามีขยะพลาสติกคิดเป็นประมาณ 18% แบ่งเป็นขยะพลาสติกส่วนที่ขายไม่ได้อยู่ที่ 26% และพลาสติกส่วนที่รีไซเคิลและขายได้มากถึง 74% ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นโอกาสการสร้างรายได้คืนกลับให้กับชุมชน รวมถึงสวัสดิการต่างๆ เช่น กองทุนฌาปนกิจ และสำหรับใช้จ่ายซ่อมแซมพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน”